“อีอีซี” จับมือกองทุนหมู่บ้านเพิ่มรายได้ชุมชน
อีอีซี จับมือ 3 หน่วยงาน ตั้ง EEC Enterprise หวังเพิ่มรายได้ประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออก หลังโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดดำเนินการเสร็จแล้ว
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี กล่าวว่า ที่ผ่านมา อีอีซี ได้เร่งดำเนินโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่อีอีซี เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) รวมถึงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และมาบตาพุด เป็นต้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง อีอีซี ก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมในพื้นที่ภาคตะวันออกด้วยไม่ใช่พัฒนาแต่ภาคอุตสาหกรรมและอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ล่าสุด จึงได้ร่วมกับอีก 3 องค์กรคือ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และนายกสมาคมกัญชงไทย (ภาคเอกชน) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชนควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
โดยเร่งสร้างโอกากาสในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ตลอดจนผู้ประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้างรายย่อยในพื้นที่ให้สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด 19 อีอีซี จึงได้ผลักดัน โครงการส่งเสริมส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และผู้ค้ารายย่อยในอีอีซี ภายใต้การดำเนินงานของ “EEC EnterpriseW ซึ่งจะดำเนินการสนับสนุนทั้งการสร้างความรู้ พัฒนาทักษะประสบการณ์ ขยายช่องทางจำหน่าย และความสามารถในการขาย พร้อมทั้งจัดหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ค้ารายย่อย ชุมชน พัฒนาผลผลิตและสินค้าให้มีความสด ใหม่ ดี มีคุณภาพสูงและได้มาตรฐานสากล คู่ไปกับสร้างเครื่องมือการตลาด นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อให้สินค้าชุมชนและโอทอปเป็นที่รู้จักและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ อีอีซี จะส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าชุมชนและโอทอป ผ่านโครงการ EEC Enterprise ที่ทำหน้าที่ด้านการ วางแผนการผลิต การตลาด และส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.สร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน จัดขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกชุมชน การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ สนับสนุนการอบรมและพัฒนาทักษะการประกอบการ 2.วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับ สถาบันการศึกษา เพื่อปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ นำนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการเพิ่มยอดขาย การสนับสนุนด้านการขนส่งสินค้า และใช้ประโยชน์จาก อีคอมเมิรซ์ เป็นต้น และ 3.ยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ร่วมกับภาคเอกชน เพิ่มทักษะการประกอบธุรกิจ รวมทั้งจัดหาแหล่งเงินทุน กองทุนสนับสนุน รองรับการแปรรูปหรือผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล เป็นต้น
นายธัชพล กาญจนกุล รองเลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า ภายในปีนี้ อีอีซี ตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวทั้งหมด 5 สาขาอาชีพ เช่น การปลูกทุเรียน การท่องเที่ยวและการปลูกกัญชา เป็นต้น โดยอีอีซีจะดึงนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาพัฒนากองทุนหมู่บ้านภายในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ในระยะเริ่มแรก ซึ่งปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านในเขตพื้นที่อีอีซี มีอยู่ประมาณ 2,000 หมู่บ้าน
สำหรับผลประโยชน์รวมที่เกิดขึ้นจาก EEC Enterprise จะสนับสนุนให้ยอดขายสินค้าชุมชนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 30% ผลักดัน จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายประเทศ) ระดับชุมชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% เศรษฐกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น 20% ผู้ซื้อสินค้า ผู้บริโภค นักท่องเที่ยวได้สินค้าชุมชน และบริการที่มีคุณภาพ จูงใจให้กลับมาท่องเที่ยวซ้ำ สร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและขจัดความยากจนในพื้นที่อีอีซีระยะยาวต่อไป