ดีลยุโรป – อิหร่านมีความเสี่ยง
สหภาพยุโรปกำลังหาทางปกป้องข้อตกลงทางธุรกิจที่ทำไว้ก่อนหน้านี้กับอิหร่าน จากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหลังสหรัฐฯประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่ทำไว้ในปี 2558
โดยทางวอชิงตันกำลังทบทวนที่จะมีการนำมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านที่เคร่งครัดกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งในปี 2558 นานาชาติมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเพื่อแลกเปลี่ยนกับการควบคุมโครงการนิวเคลียร์ที่ทะเยอทะยานของอิหร่าน แต่เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศว่าเขาจะถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงอิหร่าน
ตั้งแต่ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ในปี 2559 บริษัทยุโรปรายสำคัญหลายแห่งต่างเข้าไปทำธุรกิจมูลค่านับพันล้านดอลลาร์กับอิหร่าน และสร้างงานได้มากหลายพันอัตรา
บริษัทจำนวนมากกลัวว่าความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับสหรัฐฯ อาจมีความเสี่ยงหากพวกเขายังทำธุรกิจต่อไปกับอิหร่านเกินเส้นตายที่กำหนดในเดือนพ.ย.ที่จะถึงนี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทเชลล์และบริษัทของยุโรปแห่งอื่นๆกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในสหรัฐฯ ต้องการให้สหรัฐฯ ช่วยเหลือเป็นกรณีไป
ทางการสหรัฐฯ จะปรับธนาคารที่มีการทำธุรกรรมกับอิหร่านอย่างหนัก รวมทั้งธนาคารที่มีฐานอยู่ในสหราชอาณาจักรอย่างสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ HSBC และ Lloyds ด้วย
ทั้งนี้ ฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักรต่างระบุว่า จะยึดมั่นกับข้อผูกพันนิวเคลียร์อิหร่านและขยายความสัมพันธ์ทางธุรกิจ โดยหวังให้อิหร่านยึดมั่นในข้อตกลงเดิมเช่นกัน
ก่อนที่จะมีการคว่ำบาตรอิหร่านในปี 2555 อียูเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน ในปี 2554 อิหร่านได้ดุลการค้ากับอียูจำนวนมาก การค้าดิ่งฮวบลงในปี 2555 แต่ค่อยๆฟื้นตัวไต่ระดับขึ้นมาหลังข้อตกลงในปี 2558
ยอดส่งออกสินค้าและบริการจากอียูไปอิหร่านในปี 2560 อยู่ที่ 10,800 ล้านยูโร หรือราว 416,232 ล้านบาท และการนำเข้าจากอิหร่านเข้ามาในอียูคือ 10,100 ล้านยูโร แต่ตัวเลขในปี 2559 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า
โดยสิ่งที่อียูนำเข้าจากอิหร่านส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับน้ำมัน โดยมากกว่า 75% เป็นน้ำมัน และเชื้อเพลิงอื่นๆ ขณะที่การส่งออกจากอียูไปอิหร่านส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการขนส่งคมนาคม รองลงมาคือเคมีภัณฑ์
แต่การค้ากับอิหร่านเพิ่มขึ้นเพียง 0.6% ของมูลค่าการค้าของอียูกับทั่วโลก โดยประเทศคู่ค้าสำคัญของอิหร่านคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คิดเป็น 23.6% และจีน คิดเป็น 22.3% ของมูลค่าการค้าของอิหร่านทั้งหมด อ้างอิงจากคณะกรรมาธิการยุโรป ตรงกันข้ามกับการค้ากับอียู ที่คิดเป็น 6% เท่านั้นของอิหร่าน
บริษัทรายใหญ่ที่มีการทำข้อตกลงกับอิหร่านและมีความเสี่ยงอยู่ในขณะนี้คือ
- Total ( ฝรั่งเศส) เซ็นข้อตกลงมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยอิหร่านพัฒนา South Pars แหล่งก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในโลก
- Saga Energy ( Norway) ลงนามข้อตกลงมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
- Airbus ตัดสินใจจะขายเครื่องบิน 100 ลำให้อิหร่าน
- Siemens ของเยอรมนีเซ็นสัญญาอัพเกรดระบบรถไฟและปรับปรุงตู้รถไฟ
- FS รัฐวิสาหกิจด้านรถไฟของอิตาลี ลงนามในข้อตกลงมูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างเมือง Qom และ Arak
- Renault (ฝรั่งเศส) เซ็นข้อตกลงร่วมลงทุน สร้างศูนย์วิศวกรรมและโรงงานผลิตเพื่อหนุนความสามารถในการผลิตรถยนต์ Renault ในอิหร่านให้ถึง 350,000 คันต่อปี.