SCB ส่งออกไทยขยายตัวชั่วคราว
EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ขอนำส่งบทวิเคราะห์ ส่งออกไทยเดือน ก.พ. ขยายตัวที่ 5.9% ขยายตัวจากปัจจัยชั่วคราวด้านการส่งกลับอาวุธ
มูลค่าการส่งออกไทยเดือน ก.พ. 2019 พลิกกลับมาขยายตัวที่ 5.9%YOY หลังหดตัวในเดือนก่อนหน้าที่ -5.6%YOY โดยเป็นผลมาจากปัจจัยชั่วคราวด้านการขนอาวุธกลับของสหรัฐฯ ภายหลังการซ้อมรบ ทำให้ตัวเลขการส่งออกขยายตัวในภาพรวมสูงกว่าปกติ ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกอาวุธอยู่ที่ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นกว่า 8.8% ของมูลค่าส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ โดยหากหักการส่งออกอาวุธและยุทธปัจจัย มูลค่าการส่งออกยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ -3.4%YOY และหากหักการส่งออกทองคำเพิ่มเติม พบว่ามูลค่าการส่งออกจะหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -4.8%YOY นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน การหดตัวของมูลค่าการส่งออกไทย (เมื่อมีการหักมูลค่าส่งกลับอาวุธ) มีทิศทางสอดคล้องกับการส่งออกของประเทศอื่นในภูมิภาค สะท้อนทิศทางการค้าโลกที่ลดลงจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้สินค้าหลักของไทยที่มีการหดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร และเคมีภัณฑ์
ด้านมิติการส่งออกรายตลาดสำคัญพบว่า การหดตัวของมูลค่าการส่งออกรายตลาดมีทิศทางกระจายตัวมากขึ้น (broad-based) กล่าวคือ ตลาดส่งออกของไทยที่มีการหดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของมูลค่าส่งออกรวม (รวมการส่งออกไปสหรัฐฯ ด้วย แม้ว่ามูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์จะขยายตัวได้ 97.3%YOY แต่หากหักอาวุธและยุทธปัจจัย จะคิดเป็นการหดตัวที่ -11.7%YOY) เทียบกับในเดือนมกราคมที่ตลาดส่งออกที่มีการหดตัวคิดเป็นเพียง 66.6% เท่านั้น สะท้อนว่าทิศทางการค้าโลกยังคงลดลงต่อเนื่อง และยังไม่เห็นสัญญาณการกลับตัวที่ชัดเจน
อีไอซีมองว่า การขยายตัวของการนำเข้ามีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์ตามการส่งออกที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ประกอบกับแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2019 ยังส่งผลต่อการขยายตัวของมูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง ทำให้คาดว่าการนำเข้าทั้งปี 2019 จะมีทิศทางชะลอลงจากปี 2018 อย่างไรก็ดี อีไอซีคาดว่าสินค้านำเข้าประเภทอุปโภคบริโภคและสินค้าทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายภายในประเทศจะยังขยายตัวได้