ทรัมป์ถอนสหรัฐฯจากข้อตกลงอิหร่าน
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ประกาศว่า เขาจะถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านและมีมาตรการคว่ำบาตรมากขึ้นเพื่อสกัดกั้นอิหร่านจากระบบการเงินทั่วโลก
“เราจะมีมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุด ชาติใดก็ตามที่ช่วยเหลืออิหร่านเรื่องอาวุธนิวเคลียร์จะถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ อย่างเด็ดขาดเช่นกัน” ผู้นำสหรัฐฯกล่าว
ข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำไว้ในปี 2558 คือหลายประเทศมหาอำนาจยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับอิหร่าน ที่เคยลดปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิหร่านลงครึ่งหนึ่ง โดยอิหร่านข้อแลกเปลี่ยนด้วยการจำกัดโครงการอาวุธนิวเคลียร์ และอนุญาตให้ผู้ตรวจสอบจากนานาชาติเข้าไปตรวจสอบในประเทศได้
การออกจากข้อตกลงเป็นการทำตามสัญญาของประธานาธิบดีทรัมป์ที่เคยพูดไว้กับกลุ่มผู้สนับสนุนเขา แต่อาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำลายความสัมพันธ์ของสหรัฐฯกับชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิด และทำให้เกิดความยุ่งยากกับแหล่งน้ำมันที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดช่องให้อิหร่านขับผู้ตรวจสอบออกจากประเทศและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อหลังจากเคยตกลงที่จะระงับไปแล้ว
โดยคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์จะกลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดที่เคยยกเลิกไปภายใต้ข้อตกลงเดิมและมีโทษปรับที่สูงขึ้น โดยตั้งเป้าที่ภาคส่วนต่างๆของอิหร่าน ทั้ง อุตสาหกรรมน้ำมัน สถาบันทางการเงิน ภาคส่วนอุตสาหกรรม ความสามารถในการประกอบธุรกิจในประเทศ และการเข้าถึงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และโภคภัณฑ์
กระทรวงการคลังสหรัฐฯระบุว่า จะมีการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรในทันที ซึ่งหมายความว่า บริษัทต่างๆจะถูกคว่ำบาตรทันทีถ้าเริ่มทำธุรกิจกับอิหร่าน โดยทางกระทรวงอนุญาตให้บริษัทต่างชาติลดสัญญาที่คงค้างกับอิหร่านลงให้เสร็จสิ้นภายใน 90 – 180 วัน
สหรัฐฯขยายขนาดอิทธิพลกับระบบการเงินทั่วโลก ซึ่งหมายความว่า การคว่ำบาตรจะเป็นเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลมาก กระทรวงการคลังสหรัฐฯสามารถปิดกั้นธุรกิจต่างชาติออกจากตลาดสหรัฐฯ หากบริษัทเหล่านั้นปฏิเสธที่จะเลิกทำธุรกรรมกับอิหร่าน
ทั้งนี้ ในการทำข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในปี 2558 มีประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ที่ทำข้อตกลงร่วมกับอิหร่านนอกเหนือจากสหรัฐฯ คือ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และสหราชอาณาจักร โดยการเจรจาพูดคุยเรื่องข้อตกลงนี้กินเวลานานหลายวันในสวิตเซอร์แลนด์
โดยฝรั่งเศส เยอรมนี และสหราชอาณาจักรแสดงความเสียใจและความกังวลในการตัดสินใจของผู้นำสหรัฐฯ และกล่าวว่า พวกเขาตั้งใจที่จะปกป้องข้อตกลงที่ทำไว้ในปี 2558 ในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ผู้นำของทั้ง 3 ชาติเรียกร้องให้อิหร่านยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงเดิมอยู่ต่อไป และระบุว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ควรหลีกเลี่ยงที่จะทำเช่นนี้ ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงเดิม
ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี แห่งอิหร่านกล่าวว่า อิหร่านมีเจตนาที่จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงเดิม แม้สหรัฐฯจะขอถอนตัวออกไปก็ตาม อ้างอิงจากการรายงานของสื่อรอยเตอร์.