จำนวนเด็กในญี่ปุ่นต่ำสุดทุบสถิติ
จำนวนประชากรเด็กในญี่ปุ่นลดต่ำลงติดต่อกันเป็นปีที่ 37 ส่งสัญญาณว่าความพยายามของประเทศที่จะแก้ปัญหาประชากรสูงอายุไม่ประสบผลสำเร็จ
นับถึงวันที่ 1 เม.ย.ปี 2561 มีจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี ประมาณ 15.53 ล้านคนในญี่ปุ่น ลดลงถึง 170,000 คนจากปี 2560 และยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา อ้างอิงจากข้อมูลที่เผยแพร่โดยกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร
โดยจำนวนประชากรเด็กที่มีมากที่สุดคือ เด็กในวัย 12 – 14 ปีที่มี 3.26 ล้านคน แสดงให้เห็นว่า จำนวนเด็กที่อายุน้อยกว่านั้นมีน้อยลงเรื่อยๆ
ถึงแม้จะมีความพยายามจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะที่จะผลักดันแก้ปัญหาให้มีจำนวนเด็กมากขึ้น แต่มีเพียงกรุงโตเกียวเท่านั้นที่มีจำนวนเด็กมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
ปัจจุบัน จำนวนประชากรทั้งประเทศของญี่ปุ่นอยู่ที่ 126 ล้านคน เป็นเด็กเพียง 12.3% ของตัวเลขทั้งหมด เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่มีจำนวนเด็ก 18.9% ขณะที่จีนมีจำนวนเด็ก 16.8% และอินเดียมีประชากรเด็กถึง 30.8%
อ้างอิงจากสื่อแจแปนไทม์ รัฐบาลตั้งเป้าที่จะเพิ่มอัตราการเกิด (ค่าเฉลี่ยที่ผู้หญิงแต่ละคนจะมีบุตรได้) ให้เป็น 1.8 ภายในปี 2568 จากเดิม 1.45 ในปี 2558 จากมาตรการจ่ายเงินและเงินอุดหนุนอื่นๆ
ญี่ปุ่นประสบปัญหาอัตราการเกิดต่ำมานานหลายทศวรรษ แต่ไม่เหมือนกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นซึ่งมีปัญหาพลเมืองมีบุตรน้อยเช่นกัน แต่ยังสามารถเพิ่มจำนวนได้ด้วยผู้อพยพ เพราะที่ผ่านมาญี่ปุ่นไม่เปิดรับผู้อพยพ
ภายในปี 2603 คาดการณ์ว่า จำนวนของญี่ปุ่นจะลดลงมาอยู่ที่ 86.74 ล้านคนจากปัจจุบันคือ 126.26 ล้านคน อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข
จำนวนประชากรวัยทำงานในประเทศที่จ่ายภาษีเพื่อสนับสนุนประชากรสูงอายุให้มีเงินเกษียณและบริการสุขภาพลดจำนวนลง ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
อ้างอิงจากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ในปี 2556 (ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่มีการทำข้อมูลเรื่องนี้) มีจำนวนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นเพียง 1.3% ต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศของญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับ 7% ของสหรัฐฯ หรือ 16.1% สำหรับเอสโทเนีย
รายงานของ OECD เตือนว่า การขาดแคลนแรงงานใหม่เกิดจากปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในญี่ปุ่น ขณะที่จำนวนเด็กชายและเด็กหญิงใกล้เคียงกับประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ แต่มีความแตกต่างด้านค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมกันทางเพศถึง 25% ในญี่ปุ่น และผู้หญิงญี่ปุ่นถูกกีดกันจากระบบการทำงานในหลายปัจจัย ทั้งการขาดสถานรับเลี้ยงเด็กหลังคลอด การเลือกปฏิบัติ และการถูกคุกคามทางเพศ
“ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า จำนวนประชากรผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนเกือบ 3 ใน 4 ของประชากรวัยทำงานภายในปี 2593 การใช้ทุกคนที่มีอยู่ในตลาดแรงงานคือกุญแจสำคัญที่จะเอาชนะการขาดแคลนแรงงานได้ ” อ้างอิงจากที่ระบุในรายงาน
“ จำเป็นต้องสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีขึ้นสำหรับเด็ก อุดหนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ ดึงดูดแรงงานชาวต่างชาติ และหยุดความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในการสร้างคุณภาพงาน เพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงเข้ามาสู่ตลาดงานเพิ่มขึ้น ”