เผยโคราชนำโด่งขอเปิดพิโกไฟแนนซ์
โฆษก สศค.เผย ยอดยื่นขอทำธุรกิจสินเชื่อพิโกฯพุ่งต่อเนื่อง เหตุคลังปล่อยผี เปิดช่องรับจำนำ “สมุดคู่มือทะเบียนรถ” พ่วงปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เผยโคราช กทม. ขอนแก่น นำโด่งขอเปิดธุรกิจปล่อยกู้ประเภทนี้
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึงกรณีมีผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ในเดือน มี.ค.62 ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ว่า เพราะมีปัจจัยสืบเนื่องมาจากการอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถให้บริการสินเชื่อโดยรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นประกันการกู้ยืมเงิน และการปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เป็นไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย (พิโกพลัส)
สำหรับการยื่นคำขออนุญาตข้างต้น มีรายละเอียด สรุปคือ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.59 ที่กระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เป็นต้นมา จนถึง ณ สิ้นเดือน มี.ค.62 มีจำนวนนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 965 ราย ใน 74 จังหวัด
โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 83 ราย กรุงเทพมหานคร 73 ราย ขอนแก่น 52 ราย ทั้งนี้ มีจำนวนนิติบุคคลที่คืนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 119 ราย ใน 50 จังหวัด จึงคงเหลือนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิเป็นจำนวน 846 ราย ใน 74 จังหวัด และมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 535 ราย ใน 66 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ ได้เปิดดำเนินการแล้วเป็นจำนวน 440 ราย ใน 64 จังหวัด และมีจำนวนผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 410 ราย ใน 64 จังหวัด
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ โดยออกประกาศกระทรวงการคลังและประกาศสำนักงานเศรษฐกิจการคลังฉบับใหม่ซึ่งมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.62 เป็นต้นมา ส่งผลให้ผู้สนใจมีทางเลือกในการขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ได้ 2 ประเภท ได้แก่ 1.สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (เดิม) มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective Rate) หรือ 2.สินเชื่อพิโกพลัส มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective Rate) สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทแรก และส่วนวงเงินสินเชื่อที่เกินกว่า 50,000 บาท ให้เรียกเก็บได้ไม่เกิน 28% ต่อปี (Effective Rate)
สำหรับเงื่อนไขอื่นๆ ในการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ยังคงเป็นไปตามเงื่อนไขเดิม รวมถึงสามารถให้บริการสินเชื่อโดยรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเพื่อการเกษตรเป็นประกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน” หรือ “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” ได้ดังเดิม ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่าจะมีผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์อยู่เดิมและผู้ที่สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกพลัสเข้ามาจำนวนมาก
ทั้งนี้ สถิติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือน ก.พ.62 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 71,326 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 1,815.03 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 25,446.96 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 35,150 บัญชี เป็นเงิน 1,080.82 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59.55 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 36,176 บัญชี เป็นเงิน 734.21 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40.45 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม
ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างรวมมีจำนวนทั้งสิ้น 24,418 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 646.56 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อคงค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน มีจำนวน 2,669 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 77.85 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.04 ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 1,359 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 24.54 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.79 ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม
ส่วนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือน มี.ค.60 ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบ รายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.85 ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน มี.ค.62 มีการอนุมัติสินเชื่อรวม 525,141 ราย เป็นเงิน 23,629.00 ล้านบาท จำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไป 485,220 ราย เป็นเงิน 21,915.13 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบ 39,921 ราย เป็นเงิน 1,713.87 ล้านบาท
การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการสะสมการจับกุมผู้กระทำผิดนับตั้งแต่เดือน ต.ค.59 เป็นต้นมา ถึงสิ้นเดือน มี.ค.62 รวม 4,813 คน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังยังคงร่วมกับหน่วยงานภาคีดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ใน 5 มิติ ได้แก่ 1.ดำเนินการจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย 2.เพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ 3.ลดภาระหนี้นอกระบบโดยการไกล่เกลี่ย 4.เพิ่มศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ และ 5. สนับสนุนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยองค์กรการเงินชุมชน
ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599, ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์การกู้ยืมเงินโดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1155, ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 156, ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 และศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร 0 2575 3344.