รปภ.ถกรับมือภัยเสี่ยงประกันภัยนานาชาติ
เผยวงในหน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยระหว่างประเทศถกรับมือความเสี่ยงใหม่คปภ. เดินสายหาออสเตรียและบริษัทประกันภัยอียูหวังเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลในยุคดิจิทัลและพัฒนาระบบประกันสุขภาพของไทย
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า คณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ได้เข้าร่วมการประชุม the Joint Conference on Synergies between Insurance and Pensions ณ กรุงบราติสลาวา สาธารณรัฐสโลวัก เมื่อวันที่ 10 – 12 เม.ย.ที่ผ่านมางานดังกล่าวจัดโดยสมาคมหน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (The International Association of Insurance Supervisors : IAIS) องค์การระหว่างประเทศของหน่วยงานกำกับดูแลกองทุนบำนาญ (The International Organization of Pension Supervisors: IOPS) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) โดยมีธนาคารแห่งชาติสโลวะเกีย(The National Bank of Slovakia: NBS) เป็นเจ้าภาพในการประชุม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 130 คนจาก 50 ประเทศทั่วโลก
วัตถุประสงค์คือ เพื่อระดมความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินและองค์กรต่างๆ ทั่วโลก กำลังให้ความสนใจอาทิ การลงทุนในกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสังคมและมีธรรมาภิบาล(Environmental, Social and Governance: ESG) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความท้าทายในการกำกับดูแลธุรกิจภายใต้บริบทใหม่
นอกจากนี้ เลขาธิการ คปภ. ยังได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศ รวมถึง Mr. Klime Poposki ประธานกรรมการบริหาร Insurance Supervisory Agency, Republic of North Macedonia เกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจประกันภัยในยุโรป แนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ซึ่งประเทศ North Macedonia มีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่เป็นอิสระแยกออกจากภาคการเงินอื่น รวมถึงได้หารือแนวทางยกระดับความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการกำกับดูแลและการส่งเสริมการให้ความรู้ระหว่างหน่วยงานทั้งสอง
สำหรับประเด็นที่สำคัญของการประชุมคือ Environmental, Social and Governance หรือ ESG ซึ่งเป็นแนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุนโดยจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ3 ด้านหลักคือด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้านสังคม (Social) และด้านบรรษัทภิบาล (Governance) โดยจากสถิติและการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าการตัดสินใจลงทุนที่คำนึงถึง ESG มีแนวโน้มที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น อันส่งผลต่อการเติบโตและผลประกอบการในระยะยาวของบริษัทในที่สุด ซึ่งทุกฝ่ายในที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้นักลงทุนสถาบันรวมถึงบริษัทประกันภัยและกองทุนบำนาญลงทุนในกิจการที่คำนึงถึง ESG มากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Climate risk กลายเป็นความเสี่ยงที่สำคัญนอกจากนี้หน่วยงานกำกับดูแลควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น เช่น ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับนโยบายการลงทุนและกรอบการบริหารความเสี่ยงของบริษัทให้ครอบคลุมถึง ESG กำหนดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมสังคมและธรรมาภิบาล (ESG risk) ต่อฐานะการเงินของบริษัทรวมทั้งเพิ่ม ESG risk ในการทดสอบ stress test เป็นต้น ซึ่งในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก บราซิล และเม็กซิโก ได้เริ่มมีการออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ ESG แล้ว
อย่างไรก็ตาม ESG ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องมีการหารือในหลายประเด็น เช่น การกำหนดนิยามที่ชัดเจนการเก็บข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปรับปรุงมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงสำหรับประเทศไทยนักลงทุนสถาบันรวมถึงบริษัทประกันภัยหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่อง ESG แล้วซึ่งความท้าทายต่อไป คือจะกำกับและส่งเสริมอย่างไรเพื่อให้ ESG ถูกหลอมรวมในกระบวนการตัดสินใจลงทุนและดำเนินธุรกิจของบริษัทเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
ภายใต้บริบทของ Digitalization และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโครงสร้างประชากรของโลกมีสัดส่วนของคนยุค Millennials เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันภัยและกองทุนบำนาญเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงหลายประเทศได้นำ Blockchain มาใช้จริงแล้วรวมถึงพัฒนา Centralized electronic platform เหล่านี้เป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลว่าจะสร้างสมดุลระหว่างการกำกับดูแลผู้เล่นรายเดิมและรายใหม่ ส่งเสริมเทคโนโลยีและคุ้มครองผู้บริโภคไปพร้อมกันได้อย่างไร รวมถึงจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการกำกับดูแล (RegTech) อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงใหม่ที่หลายประเทศเริ่มให้ความสนใจคือ Outsourcing risk จากการ outsource กิจกรรมต่างๆ เช่น Cloud providers และ Pricing risk เนื่องจากรูปแบบการให้บริการและความคุ้มครองเปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ เลขาธิการคปภ. ได้หารือร่วมกับ Mr. Helmut Ettl ประธานกรรมการ The Austrian Financial Market Authority (FMA) เกี่ยวกับภาพรวมตลาดประกันภัยในประเทศออสเตรียความท้าทายในการกำกับดูแลในยุคดิจิทัลและการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดน เนื่องจากธุรกิจประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของ European Single Market บริษัทประกันภัยสามารถเปิดสาขาและเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยภายในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ หรือขายผลิตภัณฑ์ข้ามพรมแดนภายในกลุ่มประเทศสมาชิกได้ ซึ่งทำให้เป็นข้อได้เปรียบ แต่ในขณะเดียวกันมีจุดอ่อนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อเกิดเรื่องร้องเรียน FMA ไม่มีอำนาจกำกับดูแลสาขาของบริษัทเหล่านี้โดยตรง ต้องส่งเรื่องไปดำเนินการที่ประเทศต้นทาง นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในภาคการเงิน FMA ได้จัดตั้ง Regulatory sandbox และแต่งตั้ง Fintech contact point เพื่อเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างStartup บริษัทประกันภัยและFMA อีกทั้งช่วยพิจารณาในเบื้องต้นว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจหรือเทคโนโลยีที่ใช้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างไร
อีกทั้งได้พบกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทประกันภัยชั้นนำในประเทศออสเตรียคือ Generali Austria และ AXA XL Austria โดยเลขาธิการคปภ. ได้หารือเกี่ยวกับพัฒนาการของตลาดประกันภัยและระบบประกันสุขภาพในทวีปยุโรป ซึ่งประกอบด้วยความคุ้มครองขั้นพื้นฐานภายใต้ Social security ของภาครัฐและการประกันสุขภาพของภาคเอกชน ซึ่งเป็นการเพิ่มเติมความคุ้มครองจากขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ระบบประกันสุขภาพของประเทศออสเตรียมีลักษณะพิเศษ คือ ทั้งบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย สามารถเสนอขายกรมธรรม์ประกันสุขภาพได้ แต่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันสุขภาพเพิ่มเติม
อีกทั้งกฎหมายกำหนดให้กรมธรรม์ประกันสุขภาพต้องเป็น Life-long product บริษัทไม่สามารถยกเลิกการต่ออายุกรมธรรม์ได้แต่สามารถพิจารณาขอปรับอัตราเบี้ยประกันภัยได้โดยขึ้นอยู่กับLoss ratio ที่เกิดขึ้นจริงประกอบกับปัจจัยอื่นเช่นต้นทุนค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลความถี่ของการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนและข้อมูลสถิติจากดัชนีต่างๆเป็นต้นนอกจากนี้กรณีผู้ป่วยนอกมีข้อกำหนดไม่ให้แพทย์จ่ายยาที่โรงพยาบาล แต่ให้ออกใบสั่งยาให้คนไข้ซื้อที่ร้านขายยาเพื่อมิให้เกิดการกำหนดราคายาที่สูงเกินไป
“การเข้าร่วมการประชุมThe Joint Conference on Synergies between Insurance and Pensions ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดีที่ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงใหม่ที่กำลังส่งผลกระทบต่อทั้งธุรกิจประกันภัยและภาคการเงินอื่นหลายประเด็นที่เคยอยู่ไกลตัวเริ่มเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นทำให้เห็นว่าบริบทในการดำเนินธุรกิจและการกำกับดูแลเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วสำนักงานคปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้รวมถึงต้องสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่การนำเทคโนโลยีมาใช้และการคุ้มครองผู้บริโภคในเวลาเดียวกันนอกจากนี้การได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศออสเตรียและบริษัทประกันภัยของกลุ่มสหภาพยุโรปที่มีสาขาในประเทศออสเตรียทำให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการนำมาต่อยอดเพื่อยกระดับระบบประกันสุขภาพของไทยให้สามารถลดภาระและดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนได้ดียิ่งขึ้นอันเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของสำนักงานคปภ. ในปีนี้” เลขาธิการคปภ. ย้ำ.