ส่งออก “อาหารไทย” พุ่งต่อเนื่อง 4 ปีซ้อน
ส.อ.ท.เผย ส่งออกอาหารไทยพุ่งต่อเนื่องปีที่ 4 ข้าวไทยครองอันดับ 1 ขณะที่ตลาดอาเซียนครองแชมป์ส่งออกอาหารแปรรูปไตรมาสแรกปี 62
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การส่งออกอาหารของไทยตั้งแต่ปี 2558 – 2561 เป็นต้นมา มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี เฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 3 โดยการส่งออกสินค้าอาหารของไทยปี 2561 มีมูลค่าการส่งออก 1,148,278 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.43 หรือมีมูลค่า 35,822 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สำหรับในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 (มกราคม-มีนาคม) การส่งออกอาหารมีมูลค่าการส่งออก 275,119 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.47 หรือมีมูลค่า 8,708.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นสินค้ากลุ่มเกษตรอาหาร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.1 เมื่อเทียบกับการส่งออกอาหารทั้งหมด มีมูลค่าการส่งออก 137,818 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 และสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.9 เมื่อเทียบกับการส่งออกอาหารทั้งหมด มีมูลค่าการส่งออก 137,301 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 0.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561
ด้านสินค้าเกษตรอาหารที่มีการส่งออกอันดับ 1 ได้แก่ ข้าว มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 29 มูลค่าการส่งออก 39,607 ล้านบาท, อันดับที่ 2 มันสำปะหลัง มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 19 มูลค่า 26,056 ล้านบาท, อันดับที่ 3 ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 16 มูลค่า 22,730 ล้านบาท, อันดับที่ 4 และ 5 คือ ไก่แปรรูป และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 15 และ 4 มีมูลค่าการส่งออก 20,335 และ 5,642 ตามลำดับ
ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกได้ดี ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง, ไก่แปรรูป และ เครื่องเทศและสมุนไพร
ด้านสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่มีการส่งออกมากที่สุด พบว่า สินค้าที่มีการส่งออกมาเป็นอันดับ 1 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 21 ของสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด มูลค่าการส่งออก 29,388 ล้านบาท,
อันดับที่ 2 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 13 มูลค่าการส่งออก 17,607 ล้านบาท,
อันดับที่ 3 ได้แก่ น้ำตาลทราย มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 12 มูลค่าการส่งออก 16,540 ล้านบาท, อันดับที่ 4 และ 5 คือ เครื่องดื่ม และ อาหารสัตว์เลี้ยง ตามลำดับ โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 11 และ 10 มีมูลค่าการส่งออก 15,650 และ 13,358 ตามลำดับ สินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกได้ดี ได้แก่ โกโก้และของปรุงแต่ง, ผักกระป๋องและผักแปรรูป, ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป, อาหารสัตว์เลี้ยง, นมและผลิตภัณฑ์นม และสิ่งปรุงรสอาหาร
ตลาดส่งออกอาหารแปรรูปของประเทศไทยไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 (มกราคม-มีนาคม) พบว่า ตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับที่ 1 ของอุตสาหกรรมอาหาร คือ กลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ โดยมีสัดส่วนการส่งออกถึง ร้อยละ 35 ของการส่งออกอาหารแปรรูปทั้งหมด มีมูลค่าการส่งออก 47,552 ล้านบาท อันดับที่ 2 คือสหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 14 มีมูลค่าการส่งออก 18,798 ล้านบาท และอันดับ 3 คือ ญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 11 มีมูลค่าการส่งออก 14,989 ล้านบาท สำหรับอันดับถัดมา ได้แก่ สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง จีน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินเดีย และแคนาดา ตามลำดับ
สถานการณ์ตลาดอาหารในประเทศไทยปี 2561 ปริมาณการจำหน่ายอาหารในประเทศมีปริมาณ 21.5 ล้านตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 4.37 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะขยายตัวถึงร้อยละ 3-5 ในปี 2562 อันเนื่องมาจากการจําหน่ายในกลุ่มน้ำตาล น้ำมันพืช ปศุสัตว์ นม และบะหมี่กึ่งสําเร็จรูปที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงกลุ่มอาหารสุขภาพ และกลุ่มอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ (Functional Food) ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อีกทั้งภาพรวมเศรษฐกิจที่กําลังซื้อในประเทศแข็งแกร่งขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นอีกด้วย
โอกาสและอุปสรรคของอุตสาหกรรมอาหาร
ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจรวมทั้งการเติบโตและโอกาสของภาคอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่ 1.โอกาสของไทยในการเป็นประธาน ASEAN ทำให้สามารถสร้างความเชื่อมั่น ผลักดันการอำนวยความสะดวกทางการค้า และลดการกีดกันทางการค้า
2.การเมืองไทยเกิดความชัดเจนหลังการเลือกตั้ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและการลงทุน เกิดการเจรจาความตกลงด้านการค้าระหว่างประเทศ 3.EU ปลดล็อกใบเหลืองการประมงไทย ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีกับสินค้าประมงไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าประมงไทยแก่ประเทศคู่ค้ามากขึ้น 4. โอกาสส่งออกสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นทั้งในรูปแบบ B2C และ B2B และ 5. ความผันผวนของราคาน้ำมันปรับลดลงต่ำสุด จากปัญหา oversupply น้ำมันดิบในตลาดโลก มีผลเชิงบวกต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่ง
ด้านปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคทางการค้าของภาคอุตสาหกรรม ได้แก่1. ความผันผวนทางการเมืองระหว่างประเทศ และความยืดเยื้อของสงครามการค้า ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าลดลง 2. เงินบาทที่แข็งค่า ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และต้นทุนการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ
3. สหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย 11 รายการ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่สินค้าไทยในกลุ่มดังกล่าวมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50% ในสหรัฐ โดย 6 ใน 11 รายการเป็นสินค้าอาหาร ได้แก่ ทุเรียนสด, มะละกอตากแห้ง, มะขามตากแห้ง, ข้าวโพดปรุงแต่ง, ผลไม้/ถั่วแช่อิ่ม และมะละกอแปรรูป 4. ไทยอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในยุโรป เนื่องจากความตกลง EU-Vietnam FTA จะมีผลบังคับ.