สลากดิจิทัลสร้างสมดุลไม่ฆ่ารายย่อย
ประธานบอร์ดสลากฯ ระบุว่า สลากดิจิทัล จะสร้างความสมดุลทางด้านราคาระหว่างสลากที่ขายภายใน (สลากดิจิทัล) กับสลากภายนอก (สลากใบ) แม้ว่า สลากดิจิทัลจะมียอดการเสนอขายผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เพียง 5.27 ล้านฉบับ หรือคิดเป็น 5% ของยอดการพิมพ์สลากทั้งหมด 100 ล้านฉบับก็ตาม
คณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มี นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากรในฐานประธานสลากฯ แถลงถึงความพร้อมในการจำหน่ายสลากดิจิทัล งวดแรกอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ หลังจากได้ทดลองในระบบปิดหรือ Sandbox มาแล้ว 2 งวดในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้บอร์ดฯ มีความมั่นใจว่าสลากดิจิทัลสามารถทำงานได้จริง และมีประสิทธิภาพสูงเต็ม 100% โดยเฉพาะราคาที่ตั้งไว้ 80 บาท สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อในระบบปิดได้ และคาดว่า เมื่อเปิดระบบให้แก่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปซื้อผ่านแอพเป๋าตังได้แล้ว การถ่วงดุลของตลาดระหว่างภายในคือ สลากดิจิทัล และสลากภายนอกคือ ผู้ค้าสลากทั่วไป จะช่วยดึงสลากราคาแพงให้ลดลงมาได้
“สลากดิจิทัล จะเปิดขายอย่างเป็นทางการต้นเดือนมิ.ย.นี้ โดยบอร์ดจะมีระยะเวลาในการติดตามข้อมูลและประมวลผล 1 เดือน หรือ 2 งวด สลากกินแบ่งรัฐบาลจำหน่ายเดือนละ 2 งวด หรือทุกๆ 15 วัน โดยสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ จะสรุปผลอีกครั้งว่า ประสิทธิภาพของสลากดิจิทัล ดีแค่ไหน” นายลวรณ กล่าว
สำหรับสลากดิจิทัล ที่เปิดจำหน่ายในครั้งแรก ขณะนี้มีตัวแทนจำหน่ายสลากดิจิทัล 10,258 ราย เบื้องต้นนำสลากจำหน่ายผ่านแอปฯ เป๋าตัง 5.27 ล้านฉบับ หรือคิดเป็น 5% ของยอดการพิมพ์ทั้งหมด 100 ล้านฉบับต่องวด โดยเปิดจำหน่ายสลากตั้งแต่เวลา 06.00 – 23.00 น. และในวันออกรางวัลจะเปิดให้ซื้อขายตั้งแต่เวลา 06.00 น.–14.00 น. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สำนักงานสลากฯ ดึงสลากกลับจากผู้ที่มีโควตา แล้วนำมาวางขายใหม่ผ่านแอพฯ เป๋าตัง อย่างไรก็ตาม หากสลากดิจิทัล ขายไม่หมด ทางสำนักงานสลากฯ จะส่งคืนสลากที่เหลือให้แก่เจ้าของเดิมเพื่อนำไปขายจนกว่าจะหมด
นายลวรณ กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้ ผู้ขายรายย่อยมีความเป็นห่วงว่า สำนักงานสลากฯ จะเพิ่มปริมาณการจำหน่ายสลากดิจิทัลจาก 5 ล้านฉบับ ขึ้นเป็น 6 ล้าน 7 ล้านและ10 ล้านฉบับ ซึ่งประเด็นดังกล่าว สำนักงานสลากฯ สามารถทำได้ แต่การเพิ่มเพื่อทำลายผู้ค้าสลากรายย่อย ไม่เป็นความจริง ซึ่งประเด็นนี้ บอร์ดฯ ระมัดระวังเป็นอย่างมาก แต่เราต้องยอมรับความจริงว่า สลากดิจิทัล คือทางเลือกใหม่ของผู้ซื้อ กรณีต้องการซื้อสลากฉบับละ 80 บาท โดยจะทดลองระบบจริงนี้ ไปก่อน 1 เดือน หากตลาดภายนอกยังขายสลากเกินราคาก็จะเพิ่มสลากดิจิทัลให้มากขึ้น เพื่อสร้างความสมดุลในระบบ
ส่วนกรณีที่นักวิชาการระบุว่า สำนักงานสลากฯ ไม่ได้กำหนดปริมาณการซื้อ จึงเกรงว่า มีคนมากวาดซื้อสลากไปหมดนั้น นายลวรณ กล่าวว่า ในขั้นแรกเราไม่มีการอั้น เปิดซื้อแบบไม่กำหนดเพดาน หลังจากนั้น ถ้าหากพบพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก็จะเพิ่มเงื่อนไข เช่น กำหนดให้ซื้อได้คนละกี่ฉบับ
นอกจากนี้ บอร์ดฯ ยังรับทราบผลการดำเนินงานอีก 2 เรื่องคือ 1.จุดตรึงราคา 80 บาท 1,000 จุดทั่วประเทศ ล่าสุดทำได้แล้ว 360-400 จุด ส่วนที่เหลือกำลังตามพิจารณาเพิ่มเติมคือ ภาคเหนือและภาคใต้ รวมแล้ว 600 จุด และเรื่องสุดท้ายคือ การพิจารณาตัวแทนจำหน่ายสลาก จากที่ลงทะเบียนมาทั้งหมด 1 ล้านคน ล่าสุด คัดกรองจากกลุ่มแรกคือ ผู้ขายสลากเดิม มีจำนวน 110,000 คน ที่คาดว่า จะได้เป็นผู้ค้าสลาก แต่หากพบว่า มีการกระทำผิดก็จะคัดออกไปเรื่อย ๆ ทำให้ตัวเลขอาจมีความคลาดเคลื่อน ส่วนที่ขาดอยู่ประมาณ 90,000 คน จะดึงขึ้นมาก่อน 70,000 คนมาจากผู้ค้าสลากตัวจริงแต่ยังไม่มีโควตา โดยได้สำรวจพื้นที่และบันทึกประวัติแล้ว 14,000 คน ที่เหลือจะคัดกรองจากประชาชนที่ลงทะเบียนและมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นอันดับต่อไป ถ้ายังไม่ครบ 200,000 คน ถึงจะพิจารณาจากประชาชนที่ไม่ได้อยู่ใน 2 กลุ่ม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย โฆษกกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า หากเป็นสลากใบ ผู้ซื้อในต่างจังหวัดที่ห่างไกล ซื้อได้ที่จุดตรึงราคา 80 บาท สำหรับคนรุ่นใหม่จะซื้อผ่านออนไลน์ ทำให้มีสลากดิจิทัล และจุดตรึงราคา 80 บาท รวมกันทั้งหมด 7.5 ล้านฉบับ โดยที่ประชุมบอร์ดฯ ปลายเดือนมิ.ย. จะทำการประเมินอีกครั้งว่าต้องทบทวนอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้ค้าสลากซื้อจองล่วงหน้าในระบบ 64% สลากโควตา 30% และสลากดิจิทัล 5%