สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 พ.ค. 65
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ระนอง (88 มม.) จ.เชียงใหม่ (74 มม.) และจ.อุบลราชธานี (57 มม.)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 46,263 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,323 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (2 แห่ง)
กอนช. ติดตาม การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ
กอนช. ติตตามหน่วยงานดำเนินการเตรียมความพร้อม
มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี
กรมชลประทาน ระดมเครื่องจักรเครื่องมือ เร่งกำจัดผักตบชวาและวัชพืช บริเวณเหนือเขื่อนทดน้ำบางปะกง ต.บางแก้ว อ.ฉะเชิงเทรา
จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เตรียมพร้อมรับมือน้ำหลาก เนื่องจากผักตบชวาเป็นวัชพืชที่เติบโตเร็ว ประกอบกับวัชพืชบางส่วนไหลเข้ามาสมทบจากต้นน้ำมาสะสมอยู่ที่บริเวณหน้าเขื่อนทดน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นอาคารชลประทานตัวสุดท้ายในแม่น้ำบางปะกง ส่งผลให้ชาวบ้านและเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียง ไม่สามารถสัญจรทางน้ำ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำบางปะกงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยได้มีการดำเนินการกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำในแม่น้ำบางปะกงอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ให้สามารถสัญจรทางน้ำได้สะดวกขึ้น รวมทั้งช่วยเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
การประชุมขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยอย่างยั่งยืน
ณ ทำเนียบรัฐบาล พลเรือเอก พิเชฐ ตานะเศรษฐ ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี
การประชุมเพื่อรับทราบความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี โดยประธานเสนอแนะให้ กรมชลประทาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือการพัฒนาแหล่งน้ำและการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งสามารถดำเนินการควบคู่กันได้อย่างสอดคล้องกับกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาในลำดับต่อไป
หากดำเนินการได้จนแล้วเสร็จ จะเก็บกักน้ำได้ประมาณ 99.50 ล้าน ลบม. เป็นแหล่งน้ำต้นทุนส่งให้กับพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ได้ประมาณ 87,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ให้กับราษฎร อ.แก่งหางแมว
อ.นายายอาม และอ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี รวมถึงบรรเทาปัญหาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของลุ่มน้ำคลองวังโตนดได้ประมาณร้อยละ 65 เป็นแหล่งน้ำดิบสำรองสนับสนุนพื้นที่ EEC ประมาณ 70 ล้าน ลบม. หรือมากกว่าในกรณีปีที่มีน้ำมาก