จี้แบงก์ส่งข้อมูลลูกค้าออมทรัพย์ก่อนเว้นเก็บภาษี 15%
สรรพากรเอาจริง!จัดเก็บภาษี 15% จากดอกเบี้ยรับที่มียอดรายได้รวมทุกบัญชีทุกแบงก์ เกิน 20,000 บาทต่อคนต่อปี เผยผู้ฝากบัญชีออมทรัพย์ที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิ์ “ไม่ต้องเสียภาษี” ก็ต้องเซ็นต์ยินยอมให้แบงก์จัดส่งข้อมูลส่วนตัวแก่รัฐ ไม่งั้น “เสียสิทธิ์” แน่! ระบุ จากนี้ไป แบงก์ต้องส่งข้อมูลของลูกค้า ในทุกเดือน พ.ค.และ พ.ย.ของทุกปี
เกิดกระแสข่าวที่ในโลกออนไลน์ (โซเชียลีเดีย) และออฟไลน์ (หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์) กรณีกรมสรรพากรเตรียมจัดเก็บภาษีเงินได้ฯ ร้อยละ 15 กับผู้ที่มีเงินฝาก ประเภทออมทรัพย์ ซึ่งมีรายได้ “ดอกเบี้ยรับ” ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อคนต่อปี โดยสั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ทำการจัดเก็บด้วยการ “หัก ณ ที่จ่าย” นั้น
เรื่องนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ย้ำว่า การจัดเก็บภาษีจากรายได้ดังกล่าว เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว เพราะกฎหมายกำหนดไว้ “ผู้มีรายได้ย่อมมีภาระที่จะต้องจ่ายภาษี” แต่ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ผ่อนปรน โดยการยกเว้นการจัดเก็บภาษี สำหรับเงินฝากที่มีรายได้ “ดอกเบี้ยรับ” ต่อคนต่อปี รวมกันทุกธนาคารไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนกลุ่มที่มีรายได้ “ดอกเบี้ยรับ” เกิน 20,000 บาท ต่อคนต่อปี ก็จะต้องเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ทั้งนี้ จากการเฝ้าติดตามของกรมสรรพากรในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีบางผู้บริหารระดับกลางของธนาคารบางแห่ง ซึ่งไม่ใช่ 5 ธนาคารใหญ่ มีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางรู้เห็นเป็นใจกับลูกค้าผู้ฝากเงิน ทำการเปิดและปิดบัญชีที่มีรายได้ “ดอกเบี้ยรับ” ใกล้จะถึง 20,000 บาท และไม่รวมยอด “ดอกเบี้ยรับ” เพื่อ “หัก ณ ที่จ่าย” นำส่งกรมสรรพากร จึงจำเป็นจะต้องออกหนังสือสั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ ทำการจัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีเงินฝากของลูกค้ามาให้กรมสรรพากร เพื่อประเมินว่าผู้ฝากแต่ละรายนั้นจะต้องเสียภาษีหรือไม่
ด้านนายปิ่นสาย สุรัสวดี ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกรรมทางการเงินการธนาคาร) โฆษกกรมสรรพากร ย้ำว่า ฐานเงินฝากที่อยู่ในข่ายจะต้องเสียภาษี 15% นั้น ผู้ฝากฯจะต้องมีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีและทุกธนาคารมากกว่า 4 ล้านบาท (อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ ร้อยละ 0.5) ซึ่งคนในกลุ่มนี้ มีไม่ถึงร้อยละ 1 ของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เกือบ 100 ล้านบัญชี ดังนั้น มาตรการของกรมสรรพากร ย่อมไม่ส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม การที่กรมสรรพากรมีหนังสือไปถึงธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้จัดส่งข้อมูลของลูกค้าเงินฝากมาให้นั้น เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ หากลูกค้าเงินฝากทำหนังสือยินยอม เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะทำให้การจัดเก็บและส่งข้อมูลดังกล่าวทำได้ง่าย สะดวกและเร็วขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องหาทางกันเอง
“ปกติธนาคารพาณิชย์จะจ่ายดอกเบี้ย ในทุกเดือน มิ.ย.และ ธ.ค.ของทุกปี กรมฯ จึงขอให้ธนาคารพาณิชย์จัดส่งข้อมูลลูกค้ามายังกรมฯ ล่วงหน้า 1 เดือน คือ ในเดือน พ.ค.และพ.ย.ของทุกปีเช่นกัน ซึ่งการทำหนังสือยินยอมให้มีการเปิดเผยข้อมูลของลูกค้า ทำเพียงครั้งเดียว จะครอบคลุมในทุกบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในชื่อ-สกุลนั้นๆ ตลอดไป”
โฆษกกรมสรรพากรย้ำว่า หากผู้ฝากฯ ไม่เซ็นยินยอมให้มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ก็ไม่ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่กรมสรรพากรจะกำชับให้ธนาคารพาณิชย์ทำการ “หัก ณ ที่จ่าย” จากรายได้ “ดอกเบี้ยรับ” ตามที่กฎหมายกำหนด เพราะถือว่าผู้ฝากฯ รายนั้น ปฏิเสธที่จะได้รับสิทธิ์ “ยกเว้นภาษี” สำหรับ “ดอกเบี้ยรับ” ที่มีต่ำกว่า 20,000 บาทต่อคนต่อปีเอง.