ZTE เตือนโทษแบนอาจกระทบบริษัทสหรัฐฯด้วย
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. ZTE บริษัทเทคโนโลยีของจีนเตือนสหรัฐฯว่า การออกคำสั่งแบนอาจเป็นการคุกคามความอยู่รอดของ ZTE และอาจส่งผลกระทบกับบริษัทอเมริกันเองด้วย
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ สำนักอุตสาหกรรมและความมั่นคงของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศว่า จะปฏิเสธการส่งออกสินค้าให้บริษัท ZTE ซึ่งหมายความว่า บริษัทสหรัฐฯหลายแห่งไม่สามารถจัดหาชิ้นส่วน หรือซอฟต์แวร์ส่งให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนแห่งนี้ได้อีก
ที่ผ่านมา บริษัท ZTE ใช้ชิ้นส่วนจาก Qualcom และซอฟต์แวร์จากกูเกิลในสมาร์ทโฟนของบริษัท
“ คำสั่งปฏิเสธนี้ ไม่เพียงมีผลกระทบร้ายแรงต่อความอยู่รอดและการพัฒนาของ ZTE เท่านั้น แต่ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อหุ้นส่วนของ ZTE ซึ่งรวมถึงบริษัทในสหรัฐฯจำนวนมากอีกด้วย ” ZTE ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 20 เม.ย.
“ อย่างไรก็ตาม ZTE จะไม่ละความพยายามที่จะแก้ไขประเด็นนี้ผ่านการสื่อสารพูดคุย และเรายังคงมุ่งมั่นเช่นนั้น หากจำเป็น อาจมีการใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย และผลประโยชน์ของบริษัทของเรา พนักงานของเราและผู้ถือหุ้นของเรา เพื่อบรรลุภาระผูกพัน และแสดงความรับผิดชอบต่อลูกค้าทั่วโลก ผู้ใช้งาน หุ้นส่วน และซัพพลายเออร์ ”
ในปี 2560 ZTE ยอมรับว่ามีการส่งอุปกรณ์โทรคมนาคมอย่างผิดกฎหมายไปอิหร่านและเกาหลีเหนือ และยินยอมจ่ายค่าปรับเป็นจำนวน 1,190 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 37,401 ล้านบาท แต่สหรัฐฯระบุว่า ในระหว่างการสอบสวนในปี 2559 ZTE ได้แจ้งข้อมูลเท็จต่อสำนักอุตสาหกรรมและความมั่นคงของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (BIS) ว่าบริษัทได้ลงโทษผู้บริหารของบริษัทแล้ว ซึ่งตรงข้ามกับความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม ZTE ระบุว่า ได้มีมาตรการลงโทษผู้บริหารที่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว โดยบริษัทยังได้ชี้แจงอีกว่า ได้มีการตรวจสอบ
ระบบการทำงานอย่างรัดกุม และเฉพาะในปี 2560 เพียงปีเดียว บริษัทได้ใช้งบประมาณมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,571 ล้านบาทในการควบคุมระบบตรวจสอบการส่งออกสินค้าของบริษัทอย่างเข้มงวด
“ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ว่า BIS ยืนยันที่จะให้ ZTE จ่ายค่าปรับสูงอย่างไม่เป็นธรรม ถึงแม้ก่อนที่การสอบสวนข้อเท็จจริงจะเสร็จสิ้น เพิกเฉยต่องานของ ZTE และกระบวนการที่เราส่งออกสินค้า” บริษัทระบุ
กรณีของ ZTE ทำให้มีความเสี่ยงทางการค้าเพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยทั้งสองประเทศต่างขู่ซึ่งกันและกันถึงการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอีกประเทศมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ แต่ในภาคส่วนเทคโนโลยีเป็นประเด็นการต่อสู้ที่เฉพาะเจาะจง.