#MeToo ในญี่ปุ่นเริ่มได้ผล
เป็นข่าวพาดหัวไปทั่วประเทศและทั่วโลกเมื่อคนระดับผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นต้องลาออกหลังมีข่าวฉาวว่าเขาคุกคามทางเพศนักข่าวสาวคนหนึ่ง นี่อาจเป็นการยืนยันว่าปรากฏการณ์ #MeToo เริ่มได้ผลแล้วในญี่ปุ่น
แม้จะมีแคมเปญ #MeToo ในปีที่แล้ว และหลายประเทศขานรับในเรื่องนี้อย่างเห็นได้ชัด แต่ในญี่ปุ่น ไม่ค่อยมีปฏิกิริยาตอบสนองเท่าที่ควร เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมุมมองไม่เท่าเทียมกันทางเพศ การที่ผู้หญิงญี่ปุ่นจะออกมาป่าวประกาศว่าตัวเองถูกล่วงละเมิด ถือเป็นเรื่องน่าอาย สังคมมักวิจารณ์เหยื่อในทางที่ไม่ดี และถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำ เป็นผู้มีชื่อเสียง หรือมีอำนาจ คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะเชื่อฝ่ายชายมากกว่า ประเมินว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา คดีคุกคามทางเพศในญี่ปุ่นน่าจะมีสูงมาก แต่เป็นเพราะฝ่ายหญิงไม่กล้าที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีมากกว่า
โดยนายจุนอิชิ ฟุกุดะ ปฏิเสธอย่างฉุนเฉียวว่าเขาไม่ได้คุกคามทางเพศกับนักข่าวสาว ที่มีการรายงานข่าวในสัปดาห์ที่แล้วจากนิตยสารฉบับหนึ่งที่มีเทปบันทึกเสียงว่าเขาพูดจาลวนลามเธอและชวนเธอเข้าโรงแรม
เขาตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ 18 เม.ย. โดยกล่าวว่า ข่าวอื้อฉาวส่งผลกระทบทำให้เขาไม่สามารถทำงานในหน้าที่ของเขาต่อไปได้ และได้พูดขู่ว่าจะฟ้องนิตยสารเล่มที่เปิดโปงเรื่องของเขา
หนึ่งในนักข่าวซึ่งถูกนายฟุกุดะคุกคามทางเพศเคยรายงานกับเจ้านายของเธอที่สถานีโทรทัศน์อาซาฮีไปแล้ว แต่เจ้านายกล่าวว่าการเป็นข่าวดัง จะทำลายชื่อเสียงของเธอเอง และเมื่อเรื่องนี้ถูกเปิดเผยออกมา ในตอนแรก นายทาโร อาโสสะ รมว.กระทรวงการคลังออกโรงปกป้องลูกน้องและกล่าวว่าเขาไม่มีแผนจะสอบสวนเรื่องนี้ โดยเขาระบุว่า เขาได้ตำหนินายฟุกุดะด้วยวาจา และเขาพิจารณาว่านายฟุกุดะรู้สึกสำนึกผิดเพียงพอแล้ว
แต่ต่อมา เขาก็กลับคำพูด โดยระบุว่า ฟุกุกะจะถูกไล่ออกหากข้อกล่าวหาได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริง และตอนนี้ทางกระทรวงกำลังสอบสวนเรื่องนี้อยู่
มีมากกว่า 25,000 คนที่ลงชื่อเรียกร้องให้ทางกระทรวงปกป้องสิทธิของเหยื่อ
“ นี่เป็นคดีที่สำคัญมาก ” มาริ มิอุระ อาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโซเฟีย และเป็นผู้เชี่ยวชาญประเด็นเรื่องเพศกล่าว
“ คนจำนวนมากวิจารณ์วิธีที่กระทรวงการคลังจัดการกับสถานการณ์นี้ ซึ่งเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง หรือ มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนสังคมญี่ปุ่นได้ ”
นักเคลื่อนไหวหลายคนกล่าวว่า ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแล้วในญี่ปุ่น เนื่องจากที่ผ่านมา มีเหยื่อเพียง 2.8% เท่านั้นที่ไปแจ้งความกับตำรวจ และสังคมคาดหวังให้เหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดต้องทนรับสภาพอย่างเงียบๆ
ในปี 2560 ชื่อของผู้สื่อข่าวสาว ชิโอริ อิโตะ กลายเป็นข่าวพาดหัวหลังจากออกมากล่าวหานักข่าวโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงว่าข่มขืนเธอ เธอถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงในโลกออนไลน์ มีแม้กระทั่งจดหมายขู่จะฆ่าเธอ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ทำให้เรื่องดีขึ้น เธอกล่าวกับสื่อ AFP ในปีนี้ โดยตำรวจสั่งให้เธอแสดงท่าทีถูกข่มขืนด้วยการใช้ตุ๊กตายาง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เธอบรรยายว่า เหมือนถูกข่มขืนซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 2
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะให้ความเห็นเมื่อวันที่ 19 เม.ย. โดยกล่าวว่า เรื่องของนายฟุกุดะเป็นเรื่องที่น่าเสียใจมาก และให้คำมั่นที่จะฟื้นฟูความเชื่อมั่นในคณะรัฐบาลของเขากลับคืนมา
“ เป็นเรื่องน่าละอายมากที่คนระดับผู้นำของญี่ปุ่น ทั้งนายกฯและรมว.คลัง ไม่เข้าใจถึงความสำคัญของคดีคุกคามทางเพศ ” มิอุระกล่าว เธอหวังว่าสื่อในประเทศจะหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวโทษเหยื่อ โดยระบุถึงสถานีโทรทัศน์อาซาฮีที่มีแผนจะร้องเรียนกระทรวงการคลังเรื่องที่นักข่าวถูกคุกคามทางเพศ แต่ก่อนหน้านี้ ทางสถานีก็วิจารณ์เธอที่นำเรื่องนี้ไปบอกนิตยสาร
และเธอยังได้พูดถึงผู้หญิงคนอื่นที่มีความกล้าพอจะแชร์ประสบการณ์ที่พวกเธอเคยถูกกระทำ เช่น เซโกะ โนดะ ซึ่งเป็นผู้หญิงหนึ่งในสองคนที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีที่เปิดเผยเรื่องของเธอเมื่อวันที่ 18 เม.ย.
“ เมื่อตอนที่ดิฉันอายุ 20 กว่าๆ ฉันเคยถูกผู้ชายหลายคนคุกคามทางเพศ ตอนที่ดิฉันทำกิจกรรมทางการเมือง ” โนดะกล่าวในสภา
“ เป็นเรื่องยากที่คุณจะบอกกับครอบครัวหรือเพื่อน โดยไม่พูดถึงเจ้านายของคุณ”