ไทย-ร่วมวงประชุมสหรัฐฯ – อาเซียน ชู BCG ดึงลงทุนรถ EV – พลังงานสะอาด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะพร้อมด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน นายดอน ปรมัติวินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ เดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมการประชุม สุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ร่วมกับผู้นำอาเซียน ตามคำเชิญของ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
โดยในการเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการในครั้งนี้นอกจากเข้าร่วมการประชุมสมัยพิเศษระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำอาเซียน ยังเป็นโอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์ ได้พบหารือกับหน่วยงานเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และได้มีการหารือกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่และบริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ เพื่อแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการลงทุน รวมถึงได้ใช้โอกาสนี้ในการแสดงความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะมีการเชิญผู้นำประเทศต่างๆเข้ามาร่วมประชุมที่ประเทศไทย โดยประธานาธิบดีของสหรัฐฯตกลงที่จะเดินทางมาร่วมประชุมด้วยเช่นกัน
สหรัฐฯ – ไทย ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจยาวนาน
ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯมีการสถาปนาความสัมพันธ์ร่วมกันมานานกว่า 45 ปี โดยอาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 5 ของโลก และคาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจอันดับ 4 ภายในปี ค.ศ. 2030 อีกทั้งยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับภาคธุรกิจ ได้อีกมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสาขาใหม่ๆ เช่น พลังงานสะอาด อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล และนวัตกรรมการแพทย์
ในส่วนของประเทศไทยความสัมพันธ์ทวิภาคีกับสหรัฐฯเป็นความสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งดำรงมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1833 โดยเริ่มจากความตกลงด้านมิตรภาพและพาณิชย์ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรและการมีผลประโยชน์ร่วมกันในทุกด้าน ปัจจุบันมูลค่าการค้าไทยกับสหรัฐฯ มีมูลค่ารวม 48,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกมูลค่า 37,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้า 11,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย โดยสินค้าที่ไทยนำเข้ามาจากสหรัฐฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมัน ยานพาหนะ แผงวงจรไฟฟ้า อากาศยาน และสินค้าเกษตร และสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องประมวลผลอัตโนมัติ ยาง อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานพาหนะ และไดโอดและทรานซิสเตอร์
ส่วนในแง่ของการลงทุนสหรัฐฯ มีการลงทุนในไทย 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ภาคเอกชนไทยมาลงทุนใน 26 รัฐของสหรัฐฯ คิดเป็นจำนวนกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สหรัฐฯกระชับพันธมิตรในภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้ไทยกับสหรัฐฯยังมีความร่วมมือและข้อตกลงทางการค้าร่วมกันหลายฉบับได้แก่ กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement – TIFA) รวมทั้งได้มีการจัดตั้ง Joint Council (JC) เพื่อติดตามการดำเนินงานของความตกลง TIFA โดยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (US Trade Representative – USTR) เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายสหรัฐฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย รวมทั้งยังมีกรอบการเจรจา – ครอบคลุมเรื่องการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า และการบริการ และการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจในสาขาต่างๆ โดยการเจรจาแบ่งออกเป็น 22 กลุ่ม
ทั้งนี้กรอบการเจรจาที่สำคัญที่ไทยจะเข้าร่วม หรือศึกษาในกรอบที่สำคัญซึ่งสหรัฐฯ มีส่วนสำคัญในการผลักดันคือกรอบอินโด – แปซิฟิก และความร่วมมือ ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ที่สหรัฐฯจะกลับมามีบทบาทในการขับเคลื่อนอีกครั้งหลังจากที่สหรัฐฯเคยออกจากข้อตกลงนี้ไปในสมัยที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี
อย่างไรก็ตามเมื่อนายโจ ไบเดน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯได้มีการทบทวนนโยบายของสหรัฐฯในเวทีโลก และปรับนโยบายจาก American First ไปเป็นการกลับไปมีบทบาทในเวทีโลกอีกครั้ง ขณะเดียวกันบริบทของสถานการณ์โลกที่มีการแบ่งขั้วความขัดแย้งกันจากสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทำให้สหรัฐฯมุ่งหาพันธมิตรนอกภูมิภาค ซึ่งประเทศไทยรวมทั้งอาเซียนถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐฯที่จะสร้างอิทธิพลเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน
ไทยพร้อมเป็นห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคให้สหรัฐฯ
ในการหารือกันระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ กับครม.ของสหรัฐฯที่ประกอบไปด้วย นางจีน่า เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา และนางแคทเธอรีน ไท่ ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของไทยได้กล่าวว่าในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆเพิ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 และผลกระทบจากความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรปตะวันออกทำให้แต่ละประเทศต้องหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนจากซัพพายเชนที่หยุดชะงัก
ทั้งนี้ประเทศไทยให้ความสำคัญการสร้างพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต เพื่อให้ภูมิภาคมีการเติบโตที่เข้มแข็งและยั่งยืนในยุค “Next Normal” ต่อไป โดยใช้หลัก “3R” ได้แก่
1.Reconnect ส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเชื่อมโยงนี้ ผ่านการลงทุนขยายฐานการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่อาเซียนมีศักยภาพและทรัพยากรรองรับ ซึ่งไทยมีพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่พร้อมเปิดโอกาส ให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ เข้ามาร่วมลงทุน เพื่อสร้างความหลากหลายให้แก่ห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ รวมถึงจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการเชื่อมโยงธุรกิจกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยสาขาอุตสาหกรรมที่สามารถร่วมมือกันได้ คือ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และบริการทางการแพทย์ โลจิสติกส์อัจฉริยะ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
สำหรับสาขาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมกลางน้ำ และปลายน้ำที่แข็งแกร่ง และมีบริษัทเอกชนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนแล้วหลายราย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ พิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทาน เช่น ต้นน้ำของเซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งไทยมีนโยบายมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ระดับโลก โดยการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิต EV และผู้พัฒนาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง เช่น แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญ และสถานีชาร์จ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านและสร้างการเติบโตให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ ได้ด้วย
2. Rebuild โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่าในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ควรมุ่งพัฒนาและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค ซึ่งมีศักยภาพในการขยายตัวได้ถึงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2030 พร้อมกล่าวเชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐฯ ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในอาเซียน เช่น โครงข่ายอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีคลาวด์ในอุตสาหกรรมการผลิต ดาต้าเซ็นเตอร์ และการให้บริการคอนเทนท์ ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนาและบ่มเพาะธุรกิจดิจิทัลสตาร์ทอัพ ทั้งนี้ ไทยมีไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเลย์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ EECi ที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ สามารถเข้ามาร่วมพัฒนาธุรกิจดิจิทัล และขยายไปสู่ภูมิภาคได้
และ3.Rebalance ที่นายกรัฐมนตรีของไทยระบุว่าเป้าหมายของทุกภาคส่วนในเวลานี้คือ การเร่งฟื้นฟูวิถีชีวิตของผู้คนและสังคม ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำมาโดยตลอดว่า หัวใจสำคัญ คือ การรักษา “สมดุล” ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคเอกชนสหรัฐฯ มีศักยภาพในการเข้ามาขยายการลงทุน และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีในสาขาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำและพลังงานสะอาดในอาเซียนได้
นายกฯนำทีมไทยแลนด์หารือเอกชนสหรัฐฯดึงลงทุนไทย
ในช่วงท้ายของการเยือนสหรัฐฯของนายกรัฐมนตรีและคณะมีการหารือพล.อ.ประยุทธ์ ได้หารือกับสภาธุรกิจอาเซียน – สหรัฐฯ (U.S. – ASEAN Business Council: USABC) หอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC) และ National Center for APEC (NCAPEC) ซึ่งมีตัวแทนของภาคธุรกิจชั้นนำของสหรัฐฯได้แก่ ประธานและ CEO สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC) นาย Charles Freeman รองประธานอาวุโสด้านเอเชีย หอการค้าสหรัฐฯ (USCC) นาย Alex Parle รองประธานบริหาร National Center for APEC (NCAPEC) บริษัท Chevron บริษัท ConocoPhillips บริษัท AirBnB บริษัท Marriott บริษัท Koch Industries บริษัท Lockheed Martin บริษัท Organon บริษัท PhRMA บริษัท Tyson Foods บริษัท Boeing, บริษัท FedEx และ บริษัท Tesla
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงพัฒนาการและนโยบายที่สำคัญเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และหารือถึงโอกาสที่เราจะร่วมมือกันสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีภูมิต้านทาน ความสมดุล และความยั่งยืน โดยขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย ซึ่งมุ่งมั่นที่จะดำเนินการไม่ให้โควิด-19 มาเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและชีวิต อีกทั้งต้องเรียนรู้และถอดบทเรียนจากวิกฤตินี้ เพื่อเดินหน้าสร้างประเทศไทยที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าในช่วงปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การอยู่ร่วมกับโควิด-19 อย่างปลอดภัย โดยมีการฟื้นตัว เติบโตประมาณ 1.6% ซึ่งภาคเอกชนนักธุรกิจสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญ ขอบคุณความเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย และเข้ามาลงทุนในไทยเป็นลำดับต้น ๆ รวมถึงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล การแพทย์ BCG อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เป็นต้น ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศ Super Power แต่พร้อมใช้ Soft Power สนับสนุนร่วมมือกับเอกชนสหรัฐฯ
โดยในส่วนของเศรษฐกิจที่สำคัญที่ไทยและสหรัฐฯสามารถร่วมมือกันได้ และต้องการให้ภาคเอกชน สหรัฐฯเข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่เพื่อส่งเสริมการเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG และให้ความสำคัญกับการดูแลฐานทรัพยากร เร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.เกษตรและอาหาร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีมูลค่ารวมถึงประมาณ21% ของ GDP โดยรัฐบาลไทยขอเชิญชวนให้มาลงทุนเพิ่มเติมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การแพทย์ทันสมัยและการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นต้น
ไทยหนุน BCG สร้างการเติบโตเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
นายกรัฐมนตรีของไทยได้ใช้โอกาสในการพบกับผู้นำสหรัฐฯ และผู้นำหลายประเทศในอาเซียนย้ำถึงบทบาทของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีนี้ ว่าจะมุ่งเน้นการสนับสนุนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG เพื่อสนับสนุนให้เกิดสมดุลแบบองค์รวมระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐาน ภายใต้หัวข้อหลัก “OPEN. CONNECT. BALANCE.” ซึ่งสอดคล้องกับสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญและสามารถสนับสนุนข้อริเริ่มในนโยบาย Build Back Better World ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ไทยจะมุ่งผลักดันประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในเอเปค โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมทุกภาคส่วน ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อภาคเอกชน ทั้งนี้ ไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้า เพื่อขับเคลื่อนวาระนี้อย่างต่อเนื่องและให้เกิดผลเป็นรูปธรรม