คลังอาเซียนได้บทสรุปตามข้อเสนอไทย
เผยผลการประชุม รมต.คลังอาเซียน (AFMM) ครั้งที่ 23 และการประชุมรมต.คลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (AFMGM) ครั้งที่ 5 ทุกฝ่ายเห็นพ้อง 3 กรอบที่ไทยเสนอ “เชื่อมโยง-ยั่งยืน-สร้างภูมิคุ้มกัน” พร้อมติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือทางการเงินอาเซียนอย่างใกล้ชิด ด้านเวียดนามประธานอาเซียนปีหน้า ตั้งธงแล้ว “สานต่อแนวคิดไทย”
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธานการประชุม รมต.คลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 23 และเป็นประธานร่วมกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการประชุม รมต.คลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 5 ณ จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา
โดยที่ประชุมได้เห็นชอบประเด็นหลักที่เป็นกรอบการดำเนินการของไทย (Chair’s Priorities) ใน 3 เรื่อง ได้แก่ (1) ความเชื่อมโยง (Connectivity) โดยจะพัฒนาความเชื่อมโยงระบบการชำระเงินและบริการเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนในอาเซียน (2) ความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อส่งเสริมให้ภาคการเงินสามารถตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน และ (3) การสร้างภูมิคุ้มกัน (Resilience) ซึ่งสนับสนุนการพัฒนาความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
ทั้งนี้ ที่ประชุม AFMM ครั้งที่ 23 และ AFMGM ครั้งที่ 5 ได้ติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือทางการเงินอาเซียน โดยการประชุม AFMM ครั้งที่ 23 ที่ประชุมได้เห็นชอบที่จะร่วมกันผลักดันให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาเซียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ATIGA e-Form D) ผ่านระบบ ASEAN Single Window ได้ครบทั้ง 10 ประเทศภายในปีนี้ รับรองความคิดริเริ่มเรื่องมาตรฐานของหนังสือรับรองการมีถิ่นที่อยู่เพื่อการรัษฎากรที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน (Standardised Certificate of Residence in ASEAN) และรับรองแนวทางการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืน (Roadmap for Sustainable Capital Markets) ของที่ประชุมหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum: ACMF)
สำหรับการประชุม AFMGM ครั้งที่ 5 ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าในเรื่องต่าง ๆ เช่น การเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการทางการเงิน การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น การเชื่อมโยงธุรกรรมการชำระเงินในภูมิภาคอาเซียน การส่งเสริมการเงินเพื่อความยั่งยืน ทั้งในฝั่งตลาดทุนและในภาคการธนาคาร และการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินในอาเซียน นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรองคู่มือกฎระเบียบการคู่มือกฎระเบียบการประกันภัยการขนส่งทางทะเล ทางอากาศ และสินค้าผ่านแดน (Handbook on ASEAN Insurers offering Cross-Border Marine, Aviation and Goods in Transit Insurance)
ระหว่างการประชุม AFMM ครั้งที่ 23 และ AFMGM ครั้งที่ 5 ที่ประชุมได้หารือกับผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย กองทุนการเงินระหว่างประเทศไทย (IMF) และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) ในประเด็นด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งธนาคารพัฒนาเอเชียคาดว่า ในปี 2562 และ 2563 เศรษฐกิจอาเซียนจะขยายตัวร้อยละ 4.9 และ 5.0 อย่างไรก็ดี องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เห็นว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนควรคำนึงถึง จจัยเสี่ยงที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ความตึงเครียดทางการค้าและความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน
ทั้งนี้ ประเทศเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพอาเซียนในปี 2563 และยินดีจะดำเนินการต่อเนื่องในประเด็นผลักดันของไทยในปีนี้ 2 เรื่องคือ 1) การเชื่อมโยงระบบชำระเงิน (Payment Connectivity) และ 2) การเงินที่ยั่งยืน (Sustainable Finance).