เปิด www.lifeif.or.th แก้เงินฯล้นกองทุนประกันชีวิต
ปลัดคลังฯ นำทีมเปิดเว็บไซต์ www.lifeif.or.th หวังแก้ปม “เงินกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุ” ล้นกองทุนประกันชีวิตกว่าพันล้านบาท ยอดคงค้างทะลุเกิน 8 แสนราย หลังพบยอดขอรับเงินจากทายาทและผู้มีสิทธิ์ไม่ถึง 1% ตั้งเป้าคืนเงินให้มากที่สุด ครบทั้ง 100% ยิ่งดี เพราะสินทรัพย์ของทายาทผู้เอาประกัน
ไม่น่าเชื่อว่า…วงเงินกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุความจาก 22 บริษัทประกันชีวิต ซึ่งต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันชีวิต (กฎหมายกำหนด) ตลอด 11 ปีของการก่อตั้ง (ปี 2551) จะมียอดสะสมสูงกว่า 1,069 ล้านบาท และมีจำนวนผู้เอาประกันที่มีสิทธิรับเงิน แต่ไม่ได้มารวมทั้งสิ้น 813,637 ราย
จำนวนนี้ มีทายาทหรือผู้มีสิทธิรับเงินมาติดต่อขอรับเงินกรมธรรม์ฯเพียง 1,338 ราย รวมวงเงินไม่ถึง 11.50 ล้านบาท หรือแค่ 0.16% ของจำนวนผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินทั้งหมด และ 1.07% ของจำนวนเงินทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้มีสิทธิได้รับเงินทั้งหมด
จึงแปลกใจที่ นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการบริหารกองทุนประกันชีวิต จะเอาจริงเอาจังกับการสร้างแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้ทายาทหรือผู้มีสิทธิรับเงินของผู้เอาประกันผู้ล่วงลับ ได้รับคืนเงินก้อนนี้ไป
“กองทุนประกันชีวิตไม่ประสงค์จะเอา “เงินกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุ” มาเป็นของตัวเอง แม้กฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันชีวิตถือครองเงินก้อนนี้ในช่วง 10 ปีหลังเกิดการเสียชีวิต เพื่อหาทายาทและผู้มีสิทธิรับเงินฯ แต่เพราะในอดีตเทคโนโลยียังไม่ทันสมัย การดำเนินการยังคงเป็นระบบจดบันทึกแบบเดิมๆ แถมยังไม่กำหนดให้ผู้เอาประกันต้องใส่เลขหมายบัตรประจำตัวประชาชนในกรมธรรม์ จึงทำให้เกิดปัญหาในการตามหาข้อมูล เพื่อจ่ายเงินกรมธรรม์ เมื่อเงินดังกล่าวถูกส่งต่อมายังกองทุนประกันชีวิต ทางเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามจะสานงานต่อ ตามหาทายาทและผู้มีสิทธิรับเงินฯ ซึ่งหากในช่วง 10 ปีหลังจากรับโอนเงินมาจากบริษัทประกันชีวิต แล้วยังหาทายาทและผู้มีสิทธิรับเงินฯไม่เจอ เงินจะตกเป็นของกองทุนประกันชีวิตฯเพื่อใช้ในการดำเนินงานต่อไปก็ตาม” ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุ
นั่นจึงเป็นที่มาของการเปิดตัว “โปรแกรมระบบเงินกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุความ” ผ่านเว็บไซต์ที่ชื่อ www.lifeif.or.th เมื่อช่วงสายของวันศุกร์ ที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมชั้น 9 อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ถนนวิภาวดีรังสิต เขตจตุจักร กทม. ซึ่งจะทำให้ทั้งทายาทและผู้มีสิทธิรับเงินฯ สามารถติดตามเงินของผู้เอาประกันฯกลับคืนไป เพียงแค่ใส่เลขหมายบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และ/หรือ ใส่ชื่อและนามสกุล ของผู้เอาประกัน และเป็นสิ่งที่ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกองทุนประกันชีวิต อยากให้สังคมไทยรับรู้ข่าวสารเรื่องดังกล่าวมากที่สุด
“หลังจากกองทุนประกันชีวิต มีเว็บไซต์ฯดังกล่าวแล้ว เราก็หวังว่าสัดส่วนการขอรับคืน “เงินกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุ” จะมีสูงมากขึ้นเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ และหากจะครบทั้ง 100% เลยก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะเงินทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของทายาทและผู้มีสิทธิรับเงินฯของผู้เอาประกัน” นายประสงค์ย้ำ
สำหรับกองทุนประกันชีวิต เป็นหน่วยงานของรัฐ ที่เป็นนิติบุคคล จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ คุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ กองทุน จึงได้ดำเนินการตามกรอบนโยบายของแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการกองทุนประกันชีวิต โดยมุ่งเน้นให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียที่เกิดจากการเอาประกันภัยได้รับรู้ รับทราบถึงบทบาทหน้าที่ของกองทุนประกันชีวิต และสิทธิของตนเอง
ด้านนายจรัญ สอนสวัสดิ์ ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ คือ 1.บริษัทประกันไม่สามารถติดต่อผู้เอาประกันชีวิตบางรายได้ เนื่องจากสาเหตุเช่น ย้ายที่อยู่แล้วมิได้แจ้งให้บริษัทประกันทราบ 2.ผู้เอาประกันชีวิตบางราย เสียชีวิตโดยมิเคยแจ้งให้ทายาท หรือผู้รับประโยชน์ทราบว่าตนได้ทำประกันชีวิตไว้ ทำให้ผู้รับประโยชน์หรือทายาทของผู้เอาประกัน มิได้เรียกร้องเงินผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ 3.ผู้เอาประกันชีวิตบางรายไม่ส่งเบี้ยประกันต่อทำให้กรมธรรม์ขาดความคุ้มครอง แต่ไม่ทราบว่ากรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดเหลืออยู่ และ 4.ผู้เอาประกัน ได้รับเช็คจากบริษัทแล้ว แต่มิได้นำเช็คไปขึ้นเงินจนลืม
“สาเหตุที่ทำให้มีเงินคงค้างอยู่กับกองทุนประกันชีวิตมาก เพราะประชาชน ซึ่งเป็นผู้เอาประกัน และผู้รับประโยชน์จำนวนมากที่ยังไม่ทราบถึงสิทธิของตน ทำให้ปัจจุบันมีการนำส่งเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความดังกล่าวเข้ามายังกองทุนฯ เป็นจำนวนมาก แต่มีผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์เพียงส่วนน้อยที่ทราบสิทธิของตน และมาขอรับเงินคืนจากกองทุน ดังนั้น การพัฒนาระบบเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาเครื่องมือให้ทันสมัยในยุค Digital สำหรับการตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้ประชาชผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์หรือผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัย สามารถใช้สิทธิของตนมาขอรับเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความได้ อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในธุรกิจประกันภัย ตลอดจนการจัดส่งเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความของบริษัทประกันชีวิต และการดำเนินงานของกองทุนมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ” นายจรัญ กล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนตรวจสอบสิทธิของตนและปรากฎว่าพบข้อมูล ว่าตนมีสิทธิรับเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความคืนจากกองทุนประกันชีวิต ก็สามารถที่จะยื่นคำขอรับเงินผ่านช่องทางออนไลน์ หรือสามารถพิมพ์แบบคำขอ เพื่อกรอกรายละเอียดพร้อมแนบเอกสารหลักฐาน และส่งมายังที่อยู่ของกองทุนประกันชีวิต โดยกองทุนฯจะทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและเอกสารหลักฐาน และอนุมัติจ่ายเงินคืนให้กับผู้เอาประกันโดยเร็ว โดยการโอนเงินผ่านช่องทางธนาคาร หรือ เช็ค ต่อไป
“ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากระบบโปรแกรมเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ คือ ประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิการเรียกคืนเงินกรมธรรม์ประกันภัยที่ล่วงพ้นอายุความได้สะดวก รวดเร็ว และโปร่งใสยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันชีวิตอันจะส่งผลให้มีการใช้ระบบการประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น และธุรกิจประกันชีวิต ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชนส่งผลให้บริษัทประกันภัย มีความมั่นคงและเสถียรภาพที่ดี” ผู้จัดการกองทุน ย้ำ.