มาลาลากลับปากีฯครั้งแรกหลังถูกทำร้าย
เกือบ 6 ปีหลังจากเธอถูกทำร้ายจนเกือบเสียชีวิต มาลาลา ยูซาฟไซ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเดินทางกลับปากีสถานเป็นครั้งแรก
โดยยูซาฟไซ วัย 20 ปี ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่ซาบซึ้งและประทับใจที่เฟแธอได้มีโอกาสเดินทางกลับคืนมาสู่ประเทศบ้านเกิดของเธอ ซึ่งเธอยังมีความเสี่ยงจากภัยคุกคามที่รุนแรง
“ ดิฉันยังไม่ได้มีอายุมากนัก แต่ก็เห็นเรื่องต่างๆ มามาก ” เธอกล่าวหลังการประชุมกับนายกรัฐมนตรีชาฮิด คากัน อับบาสิ แห่งปากีสถาน
“ ดิฉันไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หากดิฉันเลือกได้ จะไม่จากประเทศของดิฉันไปแน่นอน ดิฉันไม่มีทางเลือก ดิฉันต้องจากไปเพื่อรักษาชีวิตของดิฉันไว้ ”
เธอกล่าว และหยุดพูดเป็นระยะเพราะร้องไห้ นักเคลื่อนฟไหวอายุน้อยคนนี้เปิดเผยว่า เธอได้ทุ่มเทงบด้านการศึกษาในปากีสถานไปมากกว่า 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเธอเสริมว่า เธอหวังว่าเราทุกคนจะได้ร่วมมือกันเพื่อสิ่งที่ดีขึ้นของปากีสถานในอนาคต เพื่อเพิ่มพลังให้กับผู้หญิง เพื่อให้สามารถเลี้ยงชีพ และยืนอยู่บนสองเท้าของตัวเองได้
ขณะที่นายกฯ อับบาสิกล่าวว่า เขารู้สึกมีความสุขมากที่เด็กของเราซึ่งได้รับชื่อเสียงและการยอมรับในระดับนานาชาติได้กลับบ้าน
“ เธอเป็นตัวแทนของเราในโลกและโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว กลุ่มเด็กหญิง และงานที่คุณได้ทำเพื่อการศึกษาของเด็กผู้หญิง นี่เป็นความฝันของเรา ที่คุณประสบความสำเร็จ เราสวดภาวนาให้คุณ ยินดีต้อนรับกลับบ้าน มาลาลา ” เขากล่าว
โดยยูซาฟไซเดินทางถึงสนามบินนานาชาติเบเนซีร์ บุตโต และได้รับการอารักขาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างแน่นหนาในช่วงเช้าของวันที่ 29 มี.ค. สื่อ CNN รายงาน
ข่าวการเดินทางของเธอกลายเป็นพาดหัวข่าวทันทีในปากีสถาน ซึ่งหลายคนยกย่องชื่นชมเธอเป็นฮีโร่ แต่อีกหลายคนก็มองว่าเธอเป็นนักปลุกปั่นสร้างกระแสซึ่งควรจะทำตัวเงียบๆ มากกว่า
เธออุทิศตัวเพื่อการศึกษาของเด็กหญิงตั้งแต่เธออายุยังน้อย เธอโพสต์บันทึกออนไลน์เกี่ยวกับการถูกข่มขู่จากกลุ่มก่อการร้ายตาลีบันในปากีสถานในย่าน Swat Valley ทางเหนือของประเทศ
ในปี 2555 ตอนที่เธออายุ 14 ปี สมาชิกกลุ่มติดอาวุธยิงยูซาฟไซและเพื่อนร่วมชั้นขณะที่อยู่บนรถโรงเรียนในเมืองมิงโกรา ในปากีสถาน กระสุนฝังอยู่ในศีรษะและคอของมาลาลา ทำให้เธอเข้าสู่ภาวะวิกฤต ในเวลาต่อมา เธอถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากโรงพยาบาลทหารในปากีสถานแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่ง ที่ซึ่งแพทย์วินิจฉัยอาการของเธอและแนะนำให้พาตัวเธอไปรักษาตัวอย่างเร่งด่วนที่อังกฤษ
หลังจากผ่านไปกว่าสัปดาห์ เธอก็ฟื้นและสามารถยืนได้อีกครั้งในโรงพยาบาลในเมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ขณะที่กลุ่มตาลีบันออกแถลงการณ์ว่า เธอจะตกเป็นเป้าสังหารอีกครั้งหากเธอรอดชีวิตมาได้
มีผู้คนสนใจเรื่องราวของเธอมากมายทั่วโลก นำมาซึ่งความปรารถนาดีต่อเธอและความตั้งใจของเธอ
โดยสหประชาชาติได้ออกแคมเปญการศึกษาเพื่อเด็กหญิงชื่อ “ I am Malala ” ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ของสหราชอาณาจักรแนะนำให้เธอเป็นทูตด้านการศึกษาทั่วโลก และประกาศให้วันที่ 10 พ.ย.ของทุกปีเป็น วันมาลาลา – วันของการทำหน้าที่เพื่อมาลาลาและเด็กหญิงอีก 32 ล้านคนที่ไม่ได้เรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียน
เธอก่อตั้งกองทุนมาลาลาขึ้น ซึ่งลงทุนเพื่อการศึกษาในท้องถิ่นเพื่อเด็กหญิงในปากีสถาน อัฟกานิสถาน ไนจีเรีย เคนยา และในจอร์แดน ซึ่งมุ่งเน้นที่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย
เธอได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี 2557 และเธอเริ่มศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเมื่อปีที่แล้ว
ในเมืองมิงโกรา บ้านเกิดของเธอ มีผู้คนที่ตื่นเต้นที่ได้ยินข่าวว่าเธอเดินทางกลับมาที่ปากีสถาน พวกเขาหวังว่าเธอจะเดินทางมาเยือน Swat Valley ย่านที่เธอเติบโตขึ้นมาซึ่งอยู่ห่างจากกรุงอิสลามาบัดถึง 250 ก.ม.
เด็กหญิงวัย 16 ปีคนหนึ่งที่เรียนอยู่ในร.ร.เดิมของยูซาฟไซ กล่าวว่ามาลาลาเป็นไอดอลของเธอ “ เด็กผู้หญิงอย่างเราไปร.ร.ด้วยเหตุผลเดียวคือมาลาลา ยูซาฟไซ ” เธอกล่าวกับสื่อ CNN