สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 เม.ย. 65
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา 6 เรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน ในช่วงวันที่ 1 – 2 พ.ค. 65 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.หนองคาย (106 มม.) จ.นครศรีธรรมราช (94 มม.) และ จ.ยะลา (92 มม.)
ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 22,739 ล้าน ลบ.ม. (39%) ขนาดใหญ่ 17,378 ล้าน ลบ.ม. (36%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 2 แห่ง (เขื่อนภูมิพล และ สิริกิติ์)
คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน
เนื่องจากในช่วงวันที่ 28 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2565 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 1 – 4 พฤษภาคม 2565 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง รวมทั้งอิทธิพลของลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ในช่วงวันที่ 30 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2565 ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
กอนช. คาดการณ์มีพื้นที่เสี่ยงน้ำไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงระหว่างวันที่ 1-5 พฤษภาคม 2565 ในพื้นที่ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ บริเวณ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ตราด และภาคใต้ บริเวณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และกระบี่
จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า และเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์