อาเบะขอโทษหลังเรตติ้งตก
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะแห่งญี่ปุ่น ซึ่งคะแนนความนิยมในตัวเขาดิ่งวูบจากการพัวพันกับข่าวฉาวและการปกปิดข้อมูล ออกมาขอโทษประชาชนเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่เป็นสาเหตุทำให้มีความกังวลและสูญเสียความเชื่อมั่นในรัฐบาลของเขา
กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้นายกฯ อาเบะลาออก จนทำให้ตำรวจปราบจลาจลต้องตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดอยู่ภายนอกการประชุมประจำปีของพรรคของเขา โดยนายกฯอาเบะย้ำถึงเจตนาของเขาที่จะปรับแก้รัฐธรรมนูญที่มีขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสหรัฐฯเป็นผู้ร่าง เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม
นายกฯ อาเบะต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งในปี 2555 เนื่องจากมีข่าวอื้อฉาวว่าเขารู้เห็นกับการขายที่ดินของรัฐที่ต่ำกว่าราคาตลาดมากให้กับกับผู้ประกอบการโรงเรียนที่มีสายสัมพันธ์กับภรรยาของเขา
“ ปัญหานี้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ” อาเบะกล่าวในที่ประชุม “ ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาล ผมรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบของผม และผมอยากขอโทษจากส่วนลึกในใจของผมต่อประชาชน ”
ถึงแม้เขาจะขอโทษต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ แต่เขาไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศแต่อย่างใด
ที่ผ่านมา เขาปฏิเสธมาโดยตลอดว่าเขาและภรรยาไม่มีส่วนแทรกแซงในการขายที่ดิน หรือไม่ได้มีการแก้ไขเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย โดยพันธมิตรใกล้ชิดของเขาคือนายทาโร อาโสะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ยืนกรานปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขเอกสารของกระทรวงการคลังเช่นกัน
จากผลโพลล์ในสัปดาห์ที่แล้วชี้ให้เห็นว่า คะแนนสนับสนุนในรัฐบาลของเขาลดลงต่ำสุดคือ 31% โดยคนส่วนใหญ่มองว่า เขาควรต้องมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้
“ เราประท้วงเพื่อคว่ำรัฐบาลของอาเบะ จากเสียงของเราและความโกรธของประชาชน ” ฟูมิโกะ คัตสุรางิ วัย 69 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ประท้วงที่มารวมตัวกันในสวนสาธารณะโตเกียวที่มีดอกซากุระกำลังเบ่งบานเต็มที่
หลายคนถือป้ายประท้วงที่มีข้อความว่า “ ติดคุกซะ อาเบะ ” และ “ ไม่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่เอาสงคราม ” โดยกลุ่มผู้ประท้วงฝ่ายขวารวมตัวกันใกล้กับกองกำลังของตำรวจ
ในการประชุมของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) นายกฯ อาเบะกล่าวว่า “ ในที่สุดก็ถึงเวลาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นงานสำคัญของเราตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคมา ”
“ มาช่วยกันกำหนดให้มีกองกำลังป้องกันตนเอง และยุติความขัดแย้งเกี่ยวกับการละเมิดรัฐธรรมนูญ ” ผู้นำญี่ปุ่นกล่าว
เขาต้องการแสดงจุดยืนให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ แต่กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่มีผลต่อนโยบายความมั่นคงของญี่ปุ่น ขณะที่นักวิจารณ์กังวลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นการเปิดทางให้กองทัพมีบทบาทมากขึ้นในต่างประเทศ
แรงสนับสนุนที่อ่อนแรงลงในตัวนายกฯอาเบะ และพันธมิตรที่มีไม่มากทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับพรรค LDP ที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก่อให้เกิดการดีเบตที่แตกแยก
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นไม่เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาก่อน และการเปลี่ยนแปลงใดๆต้องได้รับความเห็นชอบถึง 2 ใน 3 จากส.ส.และส.ว.ในแต่ละสภาและเสียงส่วนใหญ่จากการทำประชามติ.