เฟซบุ๊กขอโทษก็ไม่จบ
เมื่อวันที่ 22 มี.ค.เฟซบุ๊กยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไปจากทั้งส.ส. นักลงทุน นักโฆษณา และผู้ใช้งาน หลังจาก ซีอีโอมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กออกมายอมรับว่าโครงข่ายโซเชียลมีเดียของเขาทำผิดพลาดที่ปล่อยให้ข้อมูลของผู้ใช้งาน 50 ล้านรายตกไปอยู่ในมือของบริษัทที่ปรึกษาการเมือง Cambridge Analytica
ส.ส.สหรัฐฯต้องการให้ซัคเคอร์เบิร์กเข้าให้ปากคำในการสอบสวนเป็นการส่วนตัวในกรุงวอชิงตันเพื่ออธิบายการกระทำของบริษัท
ขณะเดียวกัน ผู้ลงโฆษณาอย่างเบราเซอร์ Mozilla และ Commerzbank ระงับโฆษณาบนเฟซบุ๊ก และแฮชแท็ก #DeleteFacebook ยังคงได้รับความนิยมต่อไปในโลกออนไลน์ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่า มีผู้ใช้งานมากแค่ไหนที่ยกเลิกการใช้เฟซบุ๊กไปแล้วจริงๆ
ในส่วนของนักลงทุนที่ยังมีความกังวล ทำให้มีการเทขายหุ้นเฟซบุ๊กอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะไม่ใช่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนหน้านี้ก็ตาม โดยหุ้นของบริษัทในวันที่ 22 มี.ค.ปิดที่ 167.89 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 2.7% ดัชนี S&P 500 ลดลง 2.5% ในวันเดียวกัน และเมื่อวันที่ 23 มี.ค.หุ้นปิดที่ 185.09 ดอลลาร์สหรัฐฯ
มูลค่าเฟซบุ๊กในตลาดลดลงมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ ตั้งแต่มีการเปิดเผยข้อมูลว่า Cambridge Analytica เข้าถึงข้อมูลอย่างไม่เหมาะสมเพื่อสร้างโปรไฟล์ของผู้ลงคะแนนชาวอเมริกัน และมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2559
หลังจากเกิดข่าวฉาวได้ 5 วัน ซัคเคอร์เบิร์กออกโรงขอโทษเมื่อวันที่ 21 มี.ค.สำหรับความผิดพลาดของบริษัท และสัญญาว่าจะเข้มงวดกับการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานของนักพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัว
ในวันที่ 22 มี.ค.ผู้บริหารหลายคนของเฟซบุ๊กยังคงบอกว่าพวกเขาเสียใจและขอโทษ
“เราทราบว่านี่เป็นประเด็นของความเชื่อถือ เรารู้ว่านี่เป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับบริษัทของเรา สำหรับบริการของเรา” Sheryl Sandberg ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ CNBC
คำขอโทษและคำสัญญาของซีอีโอซัคเคอร์เบิร์กยังคงไมเพียงพอที่จะคลี่คลายแรงกดันทางการเมืองที่มีต่อบริษัทโซเชียลมีเดียรายใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ได้
“ไม่ควรเป็นเรื่องของบริษัทในการตัดสินใจว่า อะไรเป็นความสมดุลที่ถูกต้องระหว่างความเป็นส่วนตัว นวัตกรรมและการใช้ข้อมูล กฎเหล่านั้นควรให้สังคมเป็นผู้กำหนดโดยผ่านสภา” Matt Hancock รัฐมนตรีดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อและกีฬาของอังกฤษกล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ BBC
ประธานของพรรครีพับลิกัน และเดโมแครตในคณะกรรมาธิการสภาส่วนพลังงานและพาณิชย์กล่าวว่า พวกเขาจะร้องขออย่างเป็นทางการให้ซัคเคอร์เบิร์กเข้าให้ปากคำในไม่กี่วันนี้ โดยคำขอนี้มีขึ้นหนึ่งวันหลังจากผู้บริหารบริษัทเข้าให้การกับคณะกรรมาธิการเป็นเวลานานเกือบ 2 ชั่วโมง และจากไปโดยมีคำถามเหลือค้างอีกอย่างน้อย 60 คำถามที่พวกเขาไม่สามารถตอบได้
ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก ซึ่งมีผู้ใช้งานต่อเดือนมากกว่า 2,000 ล้านราย และทำรายได้เกือบ 40,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.27 ล้านล้านบาทจากโฆษณา
ISBA กลุ่มโฆษณาฝั่งอังกฤษ ซึ่งเป็นตัวแทนของแบรนด์สินค้านับพัน มีความเสี่ยงที่จะถอนโฆษณาจากเฟซบุ๊กหากมีผลการสอบสวนออกมาว่า มีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด
แต่ Sharon Rowlands ประธาน USA Today Network Marketing Solutions กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าแบรนด์มากมายจะไม่หยุดลงโฆษณาบนเฟซบุ๊กเพราะเฟซบุ๊กยังคงเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ.