ธ.ก.ส.ปิดบัญชีปี64 อัดสินเชื่อ6.6 แสนล้านบาท
ธ.ก.ส. เผยผลงานปี2564 อัดสินเชื่อเข้าระบบเศรษฐกิจ 6.6 แสนล้านบาท พร้อมเร่งแก้หนี้ครัวเรือนให้ต่ำกว่า 90% จีดีพี พร้อมตั้งสำรองหนี้ 4 แสนล้านบาท รองรับเกษตรกรไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน
นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลการดำเนินงานปีบัญชี 2564 (1 เม.ย.2564 ถึง 31 มี.ค. 2565) ว่า ธ.ก.ส. ได้ปล่อยสินเชื่อในภาคชนบท 667,971 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ 1,606,289 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชี 35,485 ล้านบาท หรือ 2.26% ยอดเงินฝากสะสม 1,901,801 บาท เพิ่มจากต้นปีบัญชี 120,329 ล้านบาท หรือ 6.75% มีสินทรัพย์ 2,236,358 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.73% หนี้สินรวม 2,086,632 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% ทำให้ธนาคารมีรายได้จากการดำเนินงาน 98,610 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 91,031 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 7,579 ล้านบาท
“หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ของธนาคารอยู่ที่ 6.63% และคาดว่า ผลการดำเนินงานในปีนี้ จะช่วยลดเอ็นพีแอลลงมาอยู่ระดับ 4.5% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 12.43% สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด นอกจาก ธนาคารยังได้สำรองหนี้เอาไว้สูงถึง 380% หรือคิดเป็นเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อรับรองวิกฤติภาคการเกษตรของไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด -19 และสงครามรัสเซีย-ยูโครน”
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้ดำเนินโครงการเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระและเสริมสภาพคล่องลูกค้าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ผ่าน 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการชำระดีมีคืน ดำเนินการคืนดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้า 1,337,373 ราย จำนวนเงินกว่า 1,024 ล้านบาท 2.โครงการนาทีทองลดดอกเบี้ยสู้โควิด ดำเนินการลดดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้าที่มีภาระหนัก 184,920 ราย จำนวนเงิน 1,259 ล้านบาท และ 3.โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบยั่งยืน ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 3,702 สัญญา จำนวนเงิน 1,697 ล้านบาท
ที่สำคัญ ธ.ก.ส. ยังทำหน้าที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ผ่านมาตรการและโครงการสำคัญๆ ได้แก่ มาตรการรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร ผ่านโครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยโอนเงินส่วนต่างเพื่อชดเชยเป็นรายได้ให้แก่เกษตรกรในกรณีสินค้าราคาตกต่ำ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการรับโอนเข้าบัญชีโดยตรงไปแล้วกว่า 5.1 ล้านราย จำนวนเงินกว่า 88,398 ล้านบาท โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตและการเก็บเกี่ยวในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 4.63 ล้านราย จำนวนเงินกว่า 53,872 ล้านบาท โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 309,327 ราย จำนวนเงินกว่า 19,745 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร มีองค์กรและสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 62 แห่ง จำนวนเงิน 4,499 ล้านบาท โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร มีองค์กรและสถาบันเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 4 ราย จำนวนเงิน 26 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 367 กลุ่ม จำนวนเงิน 2,105 ล้านบาท และโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย มีเกษตรกรเข้าร่วมจำนวน 4,057 ราย จำนวนเงิน 17,203 ล้านบาท”
นายธนารัตน์ กล่าวว่า ภาคเกษตรไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศถึง 80% ของจีดีพี ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกถดถอย จึงส่งผลกระทบโดยตรงทั้งการส่งออกและรายได้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตร ในปี 2565 คาดว่า จะขยายตัว 2% โดยมีพืชเศรษฐกิจหลักที่มีโอกาสเติบโตได้ดี เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย ปาล์มน้ำมันและยางพารา เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงปัจจัยความผันผวนด้านราคาน้ำมันที่เปิดโอกาสให้พืชทดแทนเข้าไปเป็นทางเลือก โดย ธ.ก.ส. จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สิน ภาคครัวเรือน ส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ขับเคลื่อนนวัตกรรมการเกษตร หนุนพัฒนาชนบทสู่ความยั่งยืนและเน้นการเชื่อมโยงกับเครือข่ายด้านการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและสร้างรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนให้กับเกษตรกร
สำหรับปีบัญชี2565 (1 เม.ย.2565-31 มี.ค.2566) วางเป้าหมายสินเชื่อเติบโตเพิ่มขึ้น 30,000 ล้านบาท และสูงสุดไม่เกิน 50,000 ล้านบาท เงินฝากเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 ล้านบาท พร้อมกับดำเนินนโยบายลดหนี้ครัวเรือนให้ได้ต่ำกว่า 90% ของจีดีพี ภายใต้การส่งเสริมโครงการ 3 อาคือ อาชีพหลัก อาชีพเสริมและอาชีพรอง เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นรวมถึงกาแก้หนี้นอกระบบและหนี้อื่นๆ เช่น หนี้บัตรเครดิต เป็นต้น