ขยะพลาสติกในทะเลเพิ่มขึ้น 3 เท่า
รายงานล่าสุดของรัฐบาลสหราชอาณาจักรเตือนว่า หากไม่มีการเข้าแทรกแซงแก้ปัญหาในเร็ววัน คาดการณ์ว่าจำนวนขยะพลาสติกที่อยู่ในมหาสมุทรทั่วโลกจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นสามเท่าภายในทศวรรษนี้
รายงาน ‘Foresight Future of the Sea’ จากทำเนียบรัฐบาลสหราชอาณาจักรเพื่อวิทยาศาสตร์ระบุว่า มหาสมุทรของเรามีการเปลี่ยนแปลงมากเป็นประวัติการณ์ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์โดยตรง และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยรายงานยังชี้ให้เห็นถึงขยะพลาสติกที่เพิ่มจำนวนขึ้นในมหาสมุทร พร้อมกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเล และมลพิษทางเคมี เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่กระทบกับสภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเล
ในรายงานยังพบว่า 70% ของขยะในทะเลเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายไม่ได้ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นสามเท่าในทศวรรษปี 2558 -2568
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์มากขึ้นในการแก้ปัญหาทางทะเล เพื่อให้ปัญหามลภาวะในทะเลได้รับการแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงในระยะยาว
“สิ่งสำคัญคือการป้องกันขยะไม่ให้ลงไปสู่ทะเล ใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ และมีแคมเปญที่ทำให้สาธารณชนตระหนักรู้อย่างมีศักยภาพเกี่ยวกับการอนุรักษ์ปกป้องทะเล” อ้างอิงจากรายงาน
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรพึ่งพามหาสมุทรอย่างมากด้วยปริมาณการค้าที่ขนส่งทางทะเลถึง 95% รายงานยังชี้ว่า สหราชอาณาจักรมีโอกาสมากมายที่จะลงทุนใน ‘เศรษฐกิจมหาสมุทร’ (อุตสาหกรรมที่พึ่งพาทะเล) ซึ่งจะขยายขนาดได้เป็นสองเท่าภายในปี 2573 มีมูลค่าถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 94 ล้านล้านบาท
“ยังมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในทะเล และผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง นี่เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้สำเร็จได้ในอนาคตตามที่รายงานคาดการณ์” ศ.Ed Hill จากศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติให้ความเห็น
ประเด็นมลพิษจากพลาสติกกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในช่วงหลายปีมานี้ เนื่องจากนักวิจัยและนักเคลื่อนไหวเผยจำนวนขยะสะสมจำนวนมากในทะเลและบริเวณชายฝั่ง
ปัจจุบัน มีขยะพลาสติกประมาณ 150 ล้านตันที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร เพิ่มขึ้นถึง 8 ล้านตันในแต่ละปี อ้างอิงจากการประชุม World Economic Forum มีการประเมินว่า ภายในปี 2592 จะมีจำนวนขยะพลาสติกมากกว่าจำนวนปลาในมหาสมุทรของเรา หากอัตราการเพิ่มของขยะพลาสติกยังอยู่ในระดับนี้
ในเดือนธ.ค.ปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งใน 193 ประเทศที่ลงนามในมติของสหประชาชาติที่จะกำจัดมลพิษจากพลาสติกในทะเล หนึ่งเดือนต่อมา สหราชอาณาจักรได้ประกาศห้ามใช้ไมโครบีดส์ (ซึ่งเป็นเม็ดบีดส์ที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดผิวหน้าและร่างกาย) ตามหลังแคนาดาและสหรัฐฯ เพราะมีรายงานที่บ่งชี้ว่า มีไมโครบีดส์ปนเปื้อนอยู่ในทะเลและมหาสมุทรจำนวนมากจนน่าตกใจ.