เร่งพัฒนา สินค้าโอทอป สู่มาตรฐาน มผช.
กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ กรมการพัฒนาชุมชน ต่อยอดสินค้า โอทอป ในชุมชนท่องเที่ยวโอทอป ตั้งเป้าพัฒนาสู่ มผช. ให้ได้ 10,000 ผลิตภัณฑ์ภายในปี 2562
นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการมาที่ตน ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน ตามที่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ขอความร่วมมือให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการต่อยอด นำผลิตภัณฑ์จากโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี กิจกรรมที่ 9 ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (กลุ่ม D) ที่ได้รับการพัฒนาจากกรมการพัฒนาชุมชน ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาล เพื่อเข้าสู่การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) โดยมีเป้าหมายดำเนินการให้ได้ 10,000 ผลิตภัณฑ์ ภายในปี 2562 แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ประเภทสิ่งทอ 5,000 ผลิตภัณฑ์ และของใช้ ของประดับตกแต่ง ของที่ระลึก 5,000 ผลิตภัณฑ์
ขณะนี้ กระทรวงฯ อยู่ระหว่างดำเนินการออกใบขอรับการตรวจประเมินคุณภาพเบื้องต้น (มผช.ป) โดยกรมการพัฒนาชุมชนจะเป็นผู้รวบรวมรายงานผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ กรณีผลทดสอบเป็นไปตามมาตรฐาน มผช. ตลอดจนยืนยันสถานที่ผลิต รวมทั้งส่งเอกสารประกอบการยื่นคำขอ ที่ถูกต้อง ครบถ้วน ให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ดำเนินการพิจารณาออกใบรับคำขอ มผช.ป. เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ทั้งสองหน่วยงานเห็นชอบร่วมกันในการทำงานที่ใกล้ชิดทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ โดย สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด จะขับเคลื่อนเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ในชุมชนท่องเที่ยว โอทอป นวัตวิถี จำนวน 10,000 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้รับการรับรอง มผช. ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาการดำเนินการรวม 49 วันทำการ ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือประชาชนตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ต่อไป
“การที่ผลิตภัณฑ์ชุมชนมีใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จะเป็นข้อกําหนดด้านคุณภาพที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่เชื่อถือ เป็นที่ยอมรับ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กําหนด และสอดคล้องกับนโยบายโอทอป (OTOP) ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนจากภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ให้มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และเป็นการเชื่อมโยงให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนของไทยไปสู่ตลาดที่กว้างมากขึ้น ทั้งภายในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ โครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองให้วิสาหกิจชุมชนที่เป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน จากการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยภูมิปัญญาชาวบ้าน และทรัพยากรท้องถิ่นต่างๆ ของไทย ให้มีมูลค่าเพิ่ม เป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดโลก ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งมั่นยกระดับเอสเอ็มอี ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล