ประชันนโยบาย 7 ตัวเต็ง ผู้ว่าฯ กทม.
นอกจากเหนือจากคะแนนจัดตั้ง-เครือข่าย และโหวตเตอร์ แล้ว อีก 1 ปัจจัยแห่งชัยชนะศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) คือ นโยบาย
7 แคนดิเดตผู้ว่าฯกทม. ที่เป็น “ตัวเต็ง-ม้ามืด-ม้านอกสายตา” ต่างเปิดไพ่เด็ด-นโยบายโดนใจคนกทม. นับถอยหลังเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. วันที่ 22 พฤษภาคม 2565
ชัชชาติ 200 นโยบาย
“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หมายเลข 8 ที่มีพรรคเพื่อไทยให้ความเกื้อหนุน “ม้าตีนต้น” จนกลายเป็น “เต็งหนึ่ง-ยืนหนึ่ง” ทุกสำนักโพล ชู 200 (ปัจจุบัน 212 นโยบาย) นโยบาย 9 ด้าน ได้แก่
1.ปลอดภัยดี อาทิ ป้ายรถเมล์มีข้อมูลและสว่างปลอดภัยทุกป้าย ขอดูภาพจากกล้อง CCTV ออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็ว ยกระดับคุณภาพกล้องวงจรปิด ป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก ใช้ข้อมูลอาชญากรรมกำหนดพิกัดอันตราย เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย จัดหายานพาหนะเพื่อดับเพลิงในที่คับแคบ บ้านเปิดอุ่นใจ ที่ปลอดภัยของคนไร้บ้าน รักษาสิทธิขั้นพื้นฐานให้คนไร้บ้าน ผ่านการตรวจสอบสิทธิและสวัสดิการ จัดระบบความช่วยเหลือคนไร้บ้านให้มีประสิทธิภาพ
ช่วยหางาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง จัดทำฐานข้อมูลห้องเช่าราคาถูก (housing stock) จัดชุดปฏิบัติการสำรวจตรวจตราคนไร้บ้านและขอทานในเมือง กรุงเทพฯ ต้องสว่าง เด็กกทม. เล่นน้ำได้ ว่ายน้ำเป็น
2.สุขภาพดี 34 นโยบาย อาทิ ตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงาน ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่ปล่อยมลพิษ สนับสนุนให้เกิด ecosystem รถไฟฟ้าพลังงานฟ้า ลดปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลในชั่วโมงเร่งด่วน Low Emission Zone พัฒนาพื้นที่ปลอดฝุ่น (BKK Clean Air Area) ด้วยต้นไม้สำหรับพื้นที่เปิด ด้วยเครื่องฟอกอากาศสำหรับพื้นที่ปิด ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง พัฒนา 1,034 ลานกีฬา กับประชาชนและเอกชนในพื้นที่
ชมรมผู้สูงอายุ สร้างสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาพใจ (Active Aging) ขยายโครงการโรงพยาบาล 10,000 เตียง Mobile Medical Unit หมอถึงบ้าน ผ่าน Telemedicine เร่งรัดผลักดันการก่อสร้าง และศึกษาการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ให้ครอบคลุม การรักษาและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อ ด้วยการบูรณาการข้อมูล น้ำดื่มสะอาด ปลอดภัย ฟรี ทั่วกรุง นำร่องผ้าอนามัยฟรี นำร่องสร้างห้องปั๊มนม-ให้นมในสถานที่ของกทม.
3.สร้างสรรค์ดี 20 นโยบาย อาทิ ดึงอัตลักษณ์ สร้างเศรษฐกิจ 50 ย่านทั่วกรุงเทพฯ ดูแลห้องสมุดชุมชน บ้านหนังสือ ให้มีความทันสมัยน่าใช้งาน ห้องสมุดออนไลน์ (e-Library) อ่านอีบุ๊กได้จากทุกที่ เพิ่มฟังก์ชั่นให้ห้องสมุดเป็น Co-working Space 12 เทศกาลตลอดปีทั่งกรุงเทพฯ พื้นที่สาธารณะเอนกประสงค์ทั่วกรุง งานศิลป์จากหอศิลป์กรุงเทพฯ สู่พื้นที่สาธารณะทั่วกรุง
4.สิ่งแวดล้อมดี 34 นโยบาย อาทิ เพิ่มรถเมล์สายหลักและรอง ราคาถูกราคาเดียว ขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นสู่ระดับแขวง 1,000 จุด เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอย จุดจอดจักรยานคุณภาพ ปลอดภัย ทุกจุดเชื่อมต่อขนส่ง สนับสนุนการแปลงที่ของประชาชนและเอกชนให้เป็นพื้นที่สีเขียว พิจารณาให้นำสัตว์เลี้ยงไปออกกำลังกายในสวน กทม.ได้ ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงช่วงชีวิต จัดระเบียบสัตว์จร รถขยะไซส์เล็ก เข้าใจเมือง เข้าถึงบ้าน เพิ่มสวัสดิการพนักงานเก็บและขนขยะ ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน (onsite treatment) ทบทวนแผนก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียรวม และท่อรวบรวมน้ำเสียที่มีอยู่เดิม ห้องน้ำสาธารณะที่ดีในพื้นที่สาธารณะ
5.บริหารจัดการดี 30 นโยบาย อาทิ พัฒนาระบบติดตามการขออนุญาตกับกทม. ประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในโครงการของกทม. ขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอย ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมิน ผอ.เขต และผู้ว่าฯ กทม. สภาคนเมืองประจำเขต ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดงบประมาณ กทม. เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างครอบคลุมทั้งของกทม.และกรุงเทพธนาคม โปร่งใส ไม่ส่วย สภาเมืองคนรุ่นใหม่ ผู้ว่าฯเที่ยงคืน สนับสนุนการใช้ชีวิตและเศรษฐกิจกลางคืน
6.เรียนดี 28 นโยบาย อาทิ เรียนฟรี ชุดฟรี ไม่มีเก็บเพิ่ม โรงเรียนเป็นแหล่งโภชนาการที่มีคุณภาพให้กับเยาวชนทั้งเช้าและมื้อกลางวัน ร่วมกับเอกชนในการจัดหาแท็บเล็ตให้นักเรียนใช้ โดยเฉพาะในช่วงการ study from home คืนครูให้นักเรียน ลดภาระงานเอกสารด้วยเทคโนโลยี เพิ่มสวัสดิการครูให้เหมาะสม พัฒนาโรงเรียน 3 ภาษา พัฒนาศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็กใกล้ชุมชนและแหล่งงาน ขยายขีดความสามารถของโรงเรียนและศูนย์ฝึกอาชีพ กทม.ให้สามารถดูแลและฝึกทักษะผู้พิการได้ ปรับเงื่อนไขทุนเอราวัณ เพิ่มโอกาสสร้างครู กทม. วิชาชีพเลือกเสรีสำหรับนักเรียน
7.โครงสร้างดี 33 นโยบาย อาทิ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนำการพัฒนาเมือง วางแผนแนวคิดเมืองใหม่ที่ได้มาตรฐานในพื้นที่ชานเมือง ปรับปรุงข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผังเมืองและการควบคุมอาคารให้ทันสมัย แก้ปัญหาพื้นที่ต่ำ 50 เขต ขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,000 กม. เพิ่มแก้มลิงธรรมชาติ พื้นที่รับน้ำให้กรุงเทพฯ เซนเซอร์สูบน้ำ ไม่ต้องรอขอกุญแจ ทบทวนแผนการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ ความคุ้มค่าการลงทุน และประสิทธิภาพการแก้ปัญหาน้ำท่วม
8.เศรษฐกิจดี 29 นโยบาย อาทิ หาพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานราชการที่สามารถจัดเป็นพื้นที่ขายของสำหรับหาบเร่หรือศูนย์อาหาร ส่งเสริมให้ผู้ค้าแผงลอยมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ กทม. (กรอ.กทม.) ตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดเขต ตลาดกทม.ออนไลน์ ขยายโอกาส ขยายช่องทาง ให้กับสินค้าสร้างสรรค์กรุงเทพฯ (MIB : Made in Bangkok) จัดซื้อจากเส้นเลือดฝอย
และ 9.เดินทางดี 42 นโยบาย อาทิ ทบทวน BRT ท่าเรือเข้าสะดวก ออกสบาย เชื่อมต่อปลอดภัย รถไฟฟ้าสายสีเขียวประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด และเป็นธรรมกับเอกชน จัด Command Center บริหารจราจรร่วมกับตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เทศกิจผู้ช่วยจราจร เสริมศักยภาพสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หาความเป็นไปได้เพิ่มสะพานใหม่
พัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กม. เลียบคลองเดินได้ ปั่นปลอดภัย ทางเลียบคลองคุณภาพ แจ้งปัญหาวินฯ ผ่านแพลตฟอร์มฟองดูว์ สร้างลิฟต์รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 2 ฝั่งถนนครบทุกสถานี สร้างย่านจักรยาน เดินทางได้ทั่วด้วยการปั่น (Bicycle Corridor)
วิโรจน์ ทวงคืน สนามหลวง-เปิดสัญญาสายสีเขียว
ขณะที่ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครผู้ว่า ฯ กทม. หมายเลข 1 พรรคก้าวไกล ส่งเข้าประกวด รุกคืบนโยบายทวงคืนสนามหลวง-เปิดความมืดดำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ภายใต้นโยบาย “เมืองที่คนเท่ากัน” 12 ด้าน ได้แก่
ด้านที่ 1 สวัสดิการคนเมือง เพื่อโอบอุ้มเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาท/คน/เดือน เพิ่มสวัสดิการเลี้ยงดูเด็กเล็กเป็น (อายุ 1-6 ปี) 1,200 บาท/คน/เดือน เพิ่มเบี้ยคนพิการเป็น 1,200 บาท/คน/เดือน
ด้านที่ 2 วัคซีนฟรีจากภาษีประชาชน เน้นการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก และปอดอักเสบฟรี ด้านที่ 3 งบที่คนกทม.เลือกเองได้ โดยดึงเงินจากส่วนกลาง แบ่งให้ชุมชนละ 500,000-1,000,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของชุมชน เขตละ 50 ล้านบาท และเงินส่วนกลาง 200 ล้านบาท ให้ฝันร่วมกัน
ด้านที่ 4 บ้านคนเมือง สร้างที่อาศัยราคาถูกในตัวเมือง 10,000 ยูนิตใน 4 ปี มีสัญญาเช่า 30 ปี เพราะถ้าประเทศไทยมีบ้านพักให้นายพลอยู่จนหลังเกษียณได้ ก็ต้องมีบ้านให้ประชาชนทั่วไปอยู่ได้เช่นกัน
ด้านที่ 5 ลดค่าครองชีพด้วยค่าเดินทางที่ทุกคนจ่ายไหว สร้าง ‘ตั๋วคนเมือง’ ซื้อตั๋ว 70 บาท ใช้ได้ 100 บาท สนับสนุนให้คนหันมาใช้รถเมล์ใน กทม. เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามเส้นทางเดินรถด้วย นอกจากนี้ ยังค้านต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผลักดัน ‘ตั๋วร่วม’ 15-45 บาทตลอดสาย
ด้านที่ 6 ขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่ ที่ปัจจุบันจ่ายอยู่หลักหมื่นบาท เอาไปปรับปรุงการเก็บขยะครัวเรือน นอกจากนี้ จะไปแก้ปัญหาโรงกำจัดขยะที่อ่อนนุช ซึ่งสร้างผลกระทบกับชุมชนโดยรอบ
ด้านที่ 7 อัพเกรดศูนย์เด็กเล็ก กทม. ให้มีคุณภาพดีเท่าเอกชน โดยตั้งงบปีละ 5 ล้านบาท ตลอดทั้ง 4 ปี เพิ่มงบอาหารกลางวัน สื่อ ของเล่น ปรับปรุงอาคาร รวมถึงต้องบรรจุครูพี่เลี้ยง รวมๆ ใช้งบกราว 1,500 ล้านบาท แพงกว่าคลองช่องนนทรีนิดเดียว
ด้านที่ 8 สร้างการศึกษาที่ทุกคนวิ่งตามความฝันของตัวเองได้ สร้างโรงเรียนปลอดการกลั่นแกล้ง (bully free school) ลงทุนสื่อการสอนออนไลน์คุณภาพ และแจกคูปองตาสว่างให้เด็กๆ ไปเปิดโลกทัศน์ ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน
ด้านที่ 9 ลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง ด้วยงบปีละ 2,000 ล้านบาท ด้านที่ 10 เปลี่ยนที่รกร้าง เป็นสวนสาธารณะ โดยใช้กลไกภาษีที่ดินเปลี่ยนที่ปลูกกล้วยเป็นสวนสาธารณะ
ด้านที่ 11 ทางเท้าดีเท่ากันทั่ว กทม. โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจรับงาน และด้านที่ 12 เจอส่วยแจ้งผู้ว่าฯ เปิดช่องทางร้องเรียน เปิดข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง ให้หน่วยงานภายนอกมาร่วมประเมิน และพา กทม. เข้าร่วมภาคีความร่วมมือรัฐบาลเปิด (open government partnership)
ผู้การปุ่น ติดปีก กรุงเทพฯ มหานครโลก
ส่วน “ผู้การปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 ที่มี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์” เจ้าแม่กทม. เป็น “ลมใต้ปีก” ประกาศ “ติดปีก” ให้กรุงเทพฯ เป็น “มหานาครของโลก” และเป็น “Global Citizen” ภายใต้คอนเซ็ปต์ 3P
1.People การสร้างเมืองแห่งโอกาสให้ชาวกรุงเทพ ให้อำนาจชาวกรุงเทพทุกคน มีส่วนร่วมในการบริหารและตรวจสอบการใช้งบประมาณ กทม. ด้วยสภาชุมชน (Community Council) เพื่อกำจัดคอรัปชั่น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ กทม.ด้วยระบบกระจายอำนาจการตรวจสอบ (Decentralized Autonomous Organizatiom:DAO) ด้วยเทคโนโลยี Blockchain โดยประเมินความสามารถของทุกหน่วยงานของ กทม. จะใช้ Bangkok Coin ให้รางวัลจูงใจในการสร้างการมีส่วนร่วมของคน กทม. เพื่อให้เป็น Active Citizen ลงทุนกับการสร้างคนให้มากที่สุด ทำโรงเรียนสังกัด กทม. ให้มี มาตรฐานทัดเทียมกัน ความเป็นเลิศทางการศึกษาต้องไปพร้อมกันทุกโรงเรียน
เปลี่ยนโรงเรียนจากเดิมสอนเด็กให้อยู่ในระบบ ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ ให้เด็กสามารถคิดเป็น และค้นพบความต้องการของตัวเอง ครูเป็น Facilitator ไม่ใช่แค่ผู้ป้อนความรู้ โรงเรียนที่ดีที่สุด คือ โรงเรียนที่ใกล้บ้านที่สุด
2.Profit สร้างมหานครแห่งความมั่งคั่ง เพื่อ Take off กรุงเทพ นำร่องกองทุนเครดิตประชาชนเพื่อล้างหนี้นอกระบบ สามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน ร้อยละ 1 ต่อเดือน สร้าง Bangkok Creative City ใช้วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ จัด event สร้างรายได้ให้ทุกเขต ทุกเดือนทั่วกรุงเทพ สร้างเมืองหลวง Street Food ของโลก อาหารสะอาด รสชาติอร่อย สร้างที่ค้าขาย ทุกเขตทั่วกทม. ได้ 24 ชั่วโมง แก้ปัญหาส่วยหาบเร่แผงลอย ด้วย DAO และกลไกสภาชุมชน สร้างกรุงเทพให้เป็น New Economy Hub บ่มเพาะเด็กกรุงเทพให้เป็น nano entrepreneur ด้วยการสนับสนุนเงินลงทุนและให้ความรู้ ควบคู่ไปกับการสร้าง ecosystem ของกรุงเทพให้เป็นออฟฟิศดึงดูดคนเก่ง และนักลงทุนจากทั่วโลก
3.Planet สร้างคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพอย่างยั่งยืน แพ็คเกจแก้น้ำท่วมก่อนกรุงเทพจมบาดาล ลดมลพิษ ลดฝุ่น PM2.5 ห้ามรถที่ปล่อยควันเสียวิ่งในกทม. ควบคุมการก่อสร้าง เร่งปลูกต้นไม้ ผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กทม.สนับสนุนการตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในทุกเขต สร้างเมืองสุขภาพดี เพิ่มสถานที่ออกกำลังกายตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ แจกสายรัดข้อมืออัจฉริยะ เพิ่มพื้นที่สีเขียว จาก 6.97 ตร.ม./คน เป็น 9.0 ตร.ม./คน ปูพรมบริหารจัดการขยะ
สกลธี ชู 6 เรื่องกรุงเทพฯดีกว่านี้
ฟาก “สกลธี ภัททิยกุล” ผู้สมัครผู้ว่า ฯ กทม. หมายเลข 3 ชู “กรุงเทพฯดีกว่านี้” ด้วนนโยบาย 6 ด้าน ด้านที่ 1 การจราจรดีกว่านี้ได้ เชื่อมต่อ ล้อ-ราง-เรือ อาทิ รถไฟฟ้าสานสีเทา วัชพล-ทองหล่อ รถไฟฟ้าสายสีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ ระบบนำส่งผู้โดยสารไปยังรถไฟฟ้า ฟรีทั่วกรุง (Feeder) ATC (Actual Traffic Control) AI สัญญาณไฟจราจร เดินเรือไฟฟ้า EV ได้แก่ 1.คลองแสนแสบส่วนต่อขยายเข้าเมือง 2.คลองลาดพร้าว 3.คลองเปรมประชากร
ด้านที่ 2 ระบบสาธารณสุขดีกว่านี้ได้ อาทิ ปรับศูนย์สาธารณสุข 69 ศูนย์ เป็น Smart Clinic โดยการนำ Telemedicine มาใช้ + ปรับการบริหารจัดการ เพิ่มศูนย์สาธารณสุข Smart Clinic ทั่วกรุงเทพฯ ยกระดับโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 11 แห่ง ให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง
ด้านที่ 3 การศึกษาดีกว่านี้ได้ อาทิ โรงเรียนดีใกล้บ้าน มาตรฐานโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครต้องเท่าเทียวกัน ปรับให้เป็นโรงเรียนสองภาษา
ด้านที่ 4 สิ่งแวดล้อม-ความปลอดภัยและผังเมืองดีกว่านี้ได้ อาทิ เพิ่มกล้อง CCTV และใช้ระบบ AI เข้ามาควบคุม Smart Pole : Wifi + Lighting + CCTV+PM 2.5 เข้มเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย : มอเตอร์ไซค์ขึ้นทางเท้า + หาบแร่แผงลอย+ซากรถกีดขวาง Indicator Operation & War room สถานีดับเพลิงทันใจ ไฟไหม้ 10 นาทีต้องถึง ที่เกิดเหตุ สวนทุกเขต 50 เขต 50 สวน พัฒนาย่านต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ (Zoning)
ด้านที่ 5 ระบบบริหารจัดการดีกว่านี้ได้ อาทิ BKK One Stop Service ใบอนุญาตยื่นครบ จบ ได้ บริหารงานแบบ Work from home เพื่อแก้ปัญหาจราจร BKK App แอปเดียวครบทุกเรื่อง กทม.
และด้านที่ 6 เศรษฐกิจ-สังคม และท่องเที่ยว ดีกว่านี้ได้ อาทิ ถนนคนเดิน 50 เขต และจัดงาน Event เทศกาลสำคัญ Street Food ที่ไม่กระทบคนเดินเท้า โรงเรียนฝึกอาชีพทันสมัย กทม. สร้างงาน สร้างอาชีพ สนับสนุนและส่งเสริมอาชีพและการจ้างงานคนพิการ
ดร.เอ้ เปลี่ยนกรุงเทพฯ – เมืองสวัสดิการ
ขณะที่ “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่า ฯ กทม. หมายเขต 4 มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้สนับนุนหลักอย่างเป็นทางการ หลังจากเปิดตัว ชีพจรก็ลงเท้า-เดินครบ 50 เขต 1 ล้านก้าว ขนแพคเกจนโยบาย “เปลี่ยนกรุงเทพฯ…เราทำให้” เปลี่ยนให้กรุงเทพฯ เป็น “เมืองสวัสดิการ” และเป็น “เมืองต้นแบบแห่งอาเซียน”
“ดร.เอ้-สุชัชวีร์” ชู 2 เปลี่ยน 1.เปลี่ยนชีวิตคนกรุงเทพฯ ได้แก่ เรื่องปากท้อง เงินต้องเต็มบ้าน งานต้องเต็มมือ อาทิ การอัดฉีดเงินและสร้างงาน ด้วยการตั้งกองทุนเพื่อการจ้างงานชุมชนในทุกชุมชน การติดตั้งอินเตอร์เน็ตไวไฟฟรี 150,000 จุดทั่วกทม. จัด 12 เทศกาลใหญ่ 50 เทศกาลเขต สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว
เรื่องสาธารณสุข หมอมี สาธารณสุขดี ใกล้บ้าน ส่งเสริมศูนย์บริการสาธารณสุขให้มีอุปกรณ์การแพทย์ทันสมัย และมีแพทย์เฉพาะทางประจำการ โรงเรียนดี อยู่ใกล้บ้าน มีโรงเรียนประจำเขต ตั้งแต่ระดับก่อนอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีครูครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีหลักสูตรการเรียนรู้ขั้นต่ำ 3 ภาษา สนับสนุนวิชากีฬา ดนตรี และทักษะวิชาชีพ โภชนาการดีครบทั้ง 5 หมู่ มีคุณภาพ
2.เปลี่ยนเมือง หยุดปัญหาซ้ำซาก ได้แก่ แก้ปัญหาจราจรแบบเบ็ดเสร็จด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทวงคืนผิวการจราจรจากการก่อสร้างบางส่วน สร้างทางเท้าที่มีมาตรฐานสากล บังคับใช้กฎการจราจรอย่างเข้มข้นเท่าเทียม สร้างทางจักรยานลอยฟ้าไปทำงานได้ การแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำเน่า น้ำหนุนซ้ำซาก ใช้เครื่องสูบน้ำแบบอัตโนมัติ การทำแก้มลิงใต้ดินระบายน้ำในตรอกซอกซอยให้ลงใต้ดินเพื่อรอการระบาย ระบบป้องกันน้ำทะเลหนุนแม่น้ำเจ้าพระยา ป้องกันกรุงเทพฯจมน้ำ
การเปลี่ยนเมืองให้น่าอยู่และปลอดภัย ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษทางอากาศ-ทางน้ำในบริเวณที่มีการก่อสร้าง การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับก่อสร้างที่สร้างมลพิษเกินมาตรฐาน ประกาศสงครามกับฝุ่นพิษ PM2.5 การระงับการให้บริการรถโดยสารที่สร้างมลพิษเกินค่ามาตรฐาน การปฏิวัติระบบการจัดเก็บขยะ ส่งเสริมการแยกขยะในครัวเรือน จัดจุดบริการขยะแลกเงินเพื่อไม่ให้มีขยะตกค้าง การเปลี่ยนพื้นที่รกร้างของเอกชนเป็นสวนสาธารณะฉบับกระเป๋า (Pocket Park) ให้ประชาชนสามารถใช้งานได้ และการลดภาษีที่ดินให้กับเอกชนที่ให้ กทม.ได้เข้าใช้พื้นที่ ติดตั้ง เสาไฟ 4 มิติทั่วกทม. – ชุมชน 2,000 แห่ง
“เลือกอัศวิน ได้ลุงตู่”
“พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้สมัครผู้ว่า ฯ กทม. หมายเลข 6 ที่มา “พลังแฝง” หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ แง้มสเปก “ผู้ว่าฯกทม.ในดวงใจ” ต้องเป็น “นักปฏิบัติ” จนกลายเป็นวาทะกรรม “เลือกอัศวิน ได้ลุงตู่”
หากดูกันที่ “เนื้อแท้” นโยบาย “พล.ต.อ.อัศวิน” ภายใต้สโลแกน “กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ” พกใส่กระเป๋ามา 8 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.นโยบายเมืองป้องกันน้ำท่วม ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมอีก 9 จุด 2.นโยบายเมืองเดินทางสะดวก สะดวกในทุกการเดินทาง คนเดินทางปลอดภัยระบบขนส่งมวลชนสะดวก เชื่อมโยงล้อ-ราง-เรือ 3.นโยบายเมืองแห่งสุขภาพ สร้างโรงพยาบาลครบ 4 มุมเมือง-พบแพทย์ภายใน 60 นาที ส่งยาถึงบ้าน ปรึกษาแพทย์ทางโทรศัพท์
4.นโยบายเมืองใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว จัดการขยะที่ต้นทาง คลองสวยน้ำใส ลดภาวะโลกร้อน 5.นโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต 6.นโยบายเมืองปลอดภัย เพิ่มกล้องวงจรปิด CCTV ไฟฟ้าส่องสว่าง ปรับปรุงทางม้าลาย ทั่วกทม. 7.นโยบายเมืองดิจิทัล กรุงเทพฯ เป็นเมืองดิจิทัล และ 8.นโยบายเมืองดูแลคนทุกกลุ่มทุกวัย บริการ-สวัสดิการชุมชนทั่วถึง
รสนา ปราบโกง-ร่างทรงมหาจำลอง
ม้ามืด-รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. หมายเลข 7 มาในม็อตโต้ “ต้องหยุดโกง” ได้แก่ 1.ไม่ต่อสัมปทานบีทีเอส ลดค่าตั๋วเหลือ 20 บาทตลอดสาย ต่อยอดเจตนารมณ์ “มหาจำลอง” พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 2.บำนาญประชาชน 3,000 บาททุกเดือน เริ่มได้ก่อนที่ กทม. 3.ตั้งกองทุนหลังคาบ้านโซลาร์เซลล์ ประหยัดค่าไฟ 500 บาททุกเดือน 4.กทม.ต้องปลอดภัย ทั้งทางบกและทางน้ำ 5.ติดกล้อง CCTV ของจริง 1.5 ล้านตัว 6.เปิดกรุงเทพฯ พึ่งพาตัวเอง ฟ้าทะลายโจรและยาไทยฟรีทุกบ้าน อยู่กับโควิดได้ กลับมาหากินได้อย่างมั่นใจ 7.เลิกไล่จับหาบเร่แผงลอย จัดทำเลขายดีให้ถูกกฎหมาย สะอาด ปลอดภัย 8.กระจายงบ 50 ล้านบาท/เขต (50 เขต) ให้คนในพื้นที่ตัดสินใจทำโครงการ-แก้ปัญหา
นโยบายแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. 7 คน ของใครโดนใจคนกทม. วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 รู้