ผลเลือกตั้งไทยไม่นิ่ง 2 พรรคชิงตั้งรัฐบาล
ในวันที่ 25 มี.ค.การเลือกตั้งครั้งแรกของไทยหลังมีรัฐประหารเมื่อ 5 ปีก่อนยังคงอยู่ในความระส่ำระสาย เนื่องจากมีการกล่าวหาเรื่องโกงการเลือกตั้ง และกกต.ระบุว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์จึงจะมีความชัดเจนเรื่องจำนวนที่นั่งส.ส.ในสภา
ความสับสนเรื่องผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล โดยทั้งพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ที่มีความเชื่อมโยงกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่มีเสียงสนับสนุนเกิน 7 ล้านเสียงต่างกล่าวอ้างว่าฝั่งตัวเองมีที่นั่งส.ส.มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสม
โดยพรรคเพื่อไทยเตรียมจะยื่นฟ้องความไม่ยุติธรรมในการเลือกตั้งในหลายกรณี
“มีการกระทำที่ผิดปกติในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่เรารู้สึกไม่สบายใจ เรื่องนี้กระทบกับความน่าเชื่อถือของประเทศและความไว้วางใจของประชาชน” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยระบุ
“ เราเคยแสดงความกังวลก่อนหน้านี้ว่า จะมีการซื้อเสียง ใช้อำนาจโดยมิชอบ และทุจริต ซึ่งก็มีทั้งสามอย่างครบ เราจะต่อสู้ในทางกฎหมายต่อไป ” เธอกล่าวในการแถลงข่าว
นอกจากนี้ เธอยังแถลงข่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากมีจำนวนส.ส.มากที่สุด โดยระบุว่าจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุดในการพูดคุยกับพรรคอนาคตใหม่ (ซึ่งได้เสียงสนับสนุนเกิน 5 ล้านเสียง) และพรรคอื่นๆในฝั่งประชาธิปไตย ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ ขณะที่ทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหัวหน้าพรรคคือนายอุตตม สาวนายนก็ระบุว่าพรรคจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเช่นกัน โดยจะรวบรวเสียงส.ส.จากพรรคอื่นให้ได้เกินครึ่งของสภา มากพอที่จะเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ
กติกาของการเลือกตั้งครั้งนี้คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร จะเลือกนายกฯคนต่อไปร่วมกันบนพื้นฐานเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ 376 เสียงของสภา ซึ่งหมายความว่าพรรคพลังประชารัฐได้ส.ส.เพียง 126 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ก็มากพอที่จะหนุนให้พลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายกฯอีกครั้ง ขณะที่พรรคเพื่อไทยและพรรรคสนับสนุนประชาธิปไตยจำเป็นต้องได้ 376 เสียงในสภาล่างเพื่อเลือกนายกฯ
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรมีทั้งหมด 500 ที่นั่ง และมีตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการว่า พรรคเพื่อไทยได้ 137 ที่นั่งแล้วตอนนี้ อย่างไรก็ตาม กกต.ระบุเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ว่า จะมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พ.ค.เพื่อเคลียร์ประเด็นในเรื่องร้องเรียนต่างๆให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน
คนไทยที่ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากต่างพากันติดแฮชแท็ก ‘กกต.โป๊ะแตก’ และ ‘โกงเลือกตั้ง’ จนกลายเป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์ของประเทศไทย
หลายคนตั้งคำถามถึงตัวเลขผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง และผลคะแนนที่ออกมาซึ่งไม่ตรงกัน และมีบัตรเสียจำนวนมาก ขณะที่หลายคนสงสัยว่าตัวเลขผู้มาเลือกตั้งน้อยกว่า 70% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ เมื่อเทียบจากความคึกคักของผู้คนที่ออกไปใช้สิทธิจากรายงานข่าวในวันเลือกตั้ง.