เงินเฟ้อพุ่งสูงอุปสรรคการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยปี 65
ปี 2565 ถือเป็นปีสำคัญของเศรษฐกิจไทย เป็นปีที่หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาหลังจากที่เผชิญกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มานาน 2 ปีเต็ม โดยเศรษฐกิจในปี 2563 ติดลบกว่า 6.1% และเศรษฐกิจในปี 2564 กลับมาขยายตัวได้เพียง 1.6% เท่านั้น
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาหน่วยงานที่มีหน้าที่ติดตามและจัดทำประมาณการเศรษฐกิจต่างมีมุมมองที่ดีต่อเศรษฐกิจไทย และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.5 – 4.5% ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวได้ประมาณ 4% อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ช่วงปลายเดือน มี.ค.สำนักวิจัยเศรษฐกิจต่างๆเริ่มมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจและมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจมากขึ้นโดยปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีการจับตามากขึ้นคือเรื่องของเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมัน และ พลังงานซึ่งเป็นผลมาจากสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย รวมทั้งความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นหลังจากหลายประเทศทั่วโลกกลับมาผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 ทำให้เกิดการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆกลับมาดำเนินการได้จนใกล้เคียงกับภาวะปกติ
เงินเฟ้อคืออะไรสำคัญต่อเศรษฐกิจอย่างไร
“เงินเฟ้อ” คือ การวัดว่าราคาของสินค้า และบริการ เพิ่มขึ้นเท่าไรเมื่อเวลาผ่านไป โดยทั่วไปเราจะวัดเงินเฟ้อโดยการเปรียบเทียบราคาของสินค้าและบริการในวันนี้กับราคาเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า สำหรับค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เรียกว่า “อัตราเงินเฟ้อ” ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% แปลว่าราคาโดยเฉลี่ยในปัจจุบันสูงกว่าราคาในปีที่แล้วอยู่ 3% ตัวอย่างเช่น ถ้าข้าวสารหนึ่งถุงราคา 100 บาทในปีที่แล้ว และราคาเพิ่มเป็น 103 บาทในปีนี้ แปลว่าราคาเพิ่มขึ้น 3%
โดยการวัดระดับเงินเฟ้อมาจาก ทุกเดือน กระทรวงพาณิชย์จะเก็บข้อมูลราคาสินค้าและบริการจำนวน 430 รายการ มาคำนวณเป็นดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) การเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคเทียบกับปีก่อน
ดังนั้นเรื่องเงินเฟ้อถือเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่หน่วยงานบริหารเศรษฐกิจของประเทศต้องมีการเฝ้าระวังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมาย และทำให้เศรษฐกิจไม่ผันผวนมากจนเกินไป
โดยกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ชัดเจนนี้ช่วยให้ธุรกิจและครัวเรือนสามารถวางแผนการลงทุนและการใช้จ่ายสำหรับอนาคตได้ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงหรือผันผวน สร้างความลำบากให้ธุรกิจในการตั้งราคาสินค้าและบริการ เช่นเดียวกับสร้างความลำบากให้กับคนทั่วไปในการวางแผนการใช้จ่าย แต่ถ้าเงินเฟ้อต่ำเกินไปหรือติดลบ บางคนอาจเลือกที่จะเลื่อนการใช้จ่ายไปก่อน เพราะเชื่อว่าในอนาคตราคาสินค้าจะลดลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาที่ลดลงจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่ถ้าหากทุกคนชะลอการใช้จ่ายเหมือนกัน ธุรกิจอาจต้องปิดตัว และหลายคนอาจตกงานได้
รัฐบาล – แบงก์ชาติกำหนดกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายปีนี้ที่ 1 – 3%
ในทุกๆปี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะร่วมกันกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยในปี 2565 นี้ ครม.ได้เห็นชอบกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 1 – 3% โดยการดูแลอัตราเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าวถือว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการบริหารงานเศรษฐกิจของรัฐบาล และเป็นเป้าหมายการทำงานของ ธปท.
ทั้งนี้หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไม่อยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ธปท. ต้องอธิบายเหตุผลกับรัฐบาลและประชาชน ผ่านทางจดหมายเปิดผนึก ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ระบุว่า หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา หรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนข้างหน้า ออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงเหตุผลของการออกนอกกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และเสนอแนะวิธีทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าเป้า และระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าเป้า และ กนง. ต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกทุก 6 เดือน จนกว่าการติดตามอัตราเงินเฟ้อทั้ง 2 วิธีข้างต้นจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย
หน่วยงานเศรษฐกิจคาดเงินเฟ้อไทยอาจสูงถึง 7.2%
กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานอัตราเงินเฟ้อไทยล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มี.ค.โดยเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 13 ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 และยืนอยู่เหนือกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายของทางการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้น 5.28% เมื่อเทียบกับปีก่อน สูงกว่าเดือนมกราคมที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 3.23% และในเดือนมี.ค.ตัวเลขเงินเฟ้อจะยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งน้ำมัน ค่าไฟฟ้า
สถานการณ์ราคาน้ำมันและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ปัจจุบันราคายังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลทำให้หน่วยงานเศรษฐกิจของรัฐบาลได้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ร่วมกันจัดทำสมมุติฐานทางเศรษฐกิจตามระดับราคาน้ำมันเฉลี่ยในตลาดโลก ซึ่งมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อ และการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ 3 รูปแบบ ได้แก่
สมมุติฐานที่ 1 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกจะอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 5% และเศรษฐกิจไทยจะขายตัวได้ 3.5%
สมมุติฐานที่ 2 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกอยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 6.2% และเศรษฐกิจไทยจะขายตัวได้ 3.2% ฃ
และสมมุติฐานที่ 3 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกอยู่ที่ 46 บาทต่อลิตร อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.2% ทำให้เศรษฐกิจไทยจะขายตัวได้ 3%
จะเห็นว่าในส่วนของอัตราเงินเฟ้อที่ 3 หน่วยงานเศรษฐกิจคาดการณ์ไว้สูงกว่ากรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย 1 – 3 % ที่ ครม.ได้เห็นชอบเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานเศรษฐกิจกำลังจับตามองว่าข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ออกมาจะเป็นอย่างไร และเงินเฟ้อจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องหรือไม่
กนง.ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อไทยสูงถึง 4.9%
ในการการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2 ปี 2565 เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อเป็นประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมการฯได้มีการหารือกันในหลายประเด็นโดย กนง.ได้มีการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2565 และในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากการประมาณการในช่วงปลายปี 2564 โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 จะอยู่ที่ 4.9% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.7% และเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 จะอยู่ที่ 1.7% จากเดิมที่คาดการณ์ที่ 1.4%
โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 5% ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ในปีนี้ จากราคาพลังงานและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหารเป็นหลัก ก่อนที่จะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ส่วนหนึ่งจากราคาพลังงานที่คาดว่าจะไม่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ในระยะสั้นอัตราเงินเฟ้อยังมีความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่มีโอกาสสูงกว่าที่ประเมินไว้ และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจมากกว่าคาด
กนง.ยังประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทาน (cost-push inflation) ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำจากรายได้ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดย กนง.จะติดตามพัฒนาการเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังสอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายการเงินที่กำหนดไว้ที่ 1 – 3%
รมว.คลังคาดเงินเฟ้อปีนี้ไม่เกินกรอบ 3%
แม้ว่าหน่วยงานเศรษฐกิจหลายหน่วยงานรวมทั้ง กนง.มีข้อกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้ออย่างรวดเร็วว่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของไทย แต่ในมุมมองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ มองว่ายังไม่จำเป็นต้องปรับกรอบเงินเฟ้อทั่วไปจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 1 – 3% เนื่องจากในระยะสั้น รัฐบาลได้มีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพ การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท ช่วยจ่ายค่าน้ำมันเบนซินให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ทั้งปีเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายได้
โดยบางเดือนอัตราเงินเฟ้ออาจจะสูงเกินกรอบบนที่กำหนดไว้ที่ 3% ไปบ้าง แต่ต้องดูระยะยาวว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไร โดยจะต้องหารือกับธปท. ก่อน ว่าราคาน้ำมันและราคาอาหารที่แพงขึ้น จะส่งผลกระทบยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน หรือเป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น ส่วนภาวะสงครามจะยืดเยื้อหรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ยากต่อการคาดเดาได้
ต้องจับตาดูต่อไปว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจชั่วคราวในระยะสั้น แบบที่ รมว.คลังคาดการณ์หรือไม่ หรือว่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องระยะยาวจนส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้