11 ประเทศเดินหน้าข้อตกลงไม่สน”สหรัฐฯ”
11 ประเทศ รวมทั้งญี่ปุ่นและแคนาดา ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีภาคพื้นเอเชีย – แปซิฟิกที่ปรับแก้มาจากข้อตกลง TPP เดิม โดยไม่มีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 8 มี.ค. โดยรัฐมนตรีคนหนึ่งกล่าวว่า เป็นสัญลักษณ์ที่ทรงอิทธิพลเพื่อต่อต้านการกีดกันทางการค้าและสงครามการค้า
ข้อตกลงมีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นภาษีศุลกากรนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่หลายประเทศและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) ระบุว่า อาจเป็นการเริ่มต้นการทำสงครามการค้าทั่วโลก
The Comprehensive and Progressive Agreement for Trans – Pacific Partnership ( CPTPP) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ปรับแก้จากข้อตกลง TPP เดิม จะลดภาษีศุลกากรในประเทศสมาชิกลงมากกว่า 13% จากประเทศทั่วโลก เป็นจำนวน 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 310 ล้านล้านบาทของจีดีพี และหากมีสหรัฐฯร่วมด้วย จะคิดเป็นมากถึง 40%
“ วันนี้ เราภูมิใจกับกระบวนการนี้ เพื่อเป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนไปถึงประชาคมโลกว่า การมีตลาดที่เปิดกว้าง การบูรณาการเศรษฐกิจ และการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการสร้างสรรค์โอกาสทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง” Michelle Bachelet ประธานาธิบดีแห่งชิลีกล่าว
ขณะที่ Heraldo Munoz รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของชิลีระบุว่า การค้าระหว่างชิลีกับจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสูงสุด จะยังคงเติบโตคู่ไปกับการค้าของกลุ่มประเทศ CPTPP
แม้ไม่มีสหรัฐฯ ข้อตกลงนี้ก็ยังเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรเกือบ 500 ล้านคน ทำให้เป็นหนึ่งในข้อตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก อ้างอิงจากสถิติการค้าของชิลีและแคนาดา
ทั้งนี้ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ( TPP) ถูกระงับไปในปีที่แล้ว เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ถอนสหรัฐฯออกจากการเป็นประเทศสมาชิกหลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐ ฯได้เพียง 3 วัน โดยเขากล่าวว่า เป็นการตัดสินใจเพื่อปกป้องงานของสหรัฐฯ
โดย 11 ประเทศที่เหลือได้มีการปรับแก้ไขรายละเอียดของข้อตกลงเป็นครั้งสุดท้ายในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ข้อตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อ 6 ประเทศเป็นอย่างน้อยเสร็จสิ้นกระบวนการอนุมัติในประเทศ ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ก่อนสิ้นปีนี้
“ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะเห็น CPTPP มีผลบังคับใช้ประมาณสิ้นปีนี้ หรืออย่างช้า ก็หลังจากนั้นไม่นานนัก” Steven Ciobo รัฐมนตรีการค้าของออสเตรเลียกล่าว
ข้อตกลงที่ปรับแก้ไขได้เอากฎข้อบังคับจากการเจรจากับสหรัฐฯออก รวมทั้งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของเวชภัณฑ์ รัฐบาลและนักเคลื่อนไหวของประเทศสมาชิกอื่นกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงอาจมีผลทำให้ราคายาสูงขึ้น
เวอร์ชันสุดท้ายของข้อตกลงมีการเผยแพร่ในนิวซีแลนด์เมื่อวันที่ 21 ก.พ. โดยประเทศสมาชิกทั้งหมดคือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และ เวียดนาม
“ เราภูมิใจ … ที่แสดงให้โลกเห็นว่า การค้าที่ก้าวหน้า คือการค้าที่ก้าวเดินไปข้างหน้า อย่างยุติธรรม มีความสมดุล และเราจะผลักดันพลเมืองของเราให้ก้าวไปข้างหน้าในโลก พร้อมกับการค้า” Francois – Philippe Champagne รัฐมนตรีการค้าของออสเตรเลียกล่าว.