สกพอ. อบจ.ระยอง กรมประมง และ ททท. ฟื้นฟูสัตว์ทะเล สร้างรายได้ให้ชุมชน
สกพอ. อบจ.ระยอง กรมประมง และ ททท. จับมือดำเนินโครงการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ท้องทะเลภาคตะวันออก ผ่านโครงการพัฒนาความยั่งยืนของสัตว์ทะเลในพื้นที่ อีอีซี หนุนศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการการเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลอย่างยั่งยืน เพิ่มปริมาณสัตว์ทะเล โดยไม่พึ่งพางบประมาณรัฐ พร้อมสร้างกิจกรรมปล่อยสัตว์ทะเล กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาความยั่งยืนของสัตว์ทะเลในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ร่วมกับกรมประมง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ. ระยอง) ว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของ สกพอ. คือ การส่งเสริมการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่เพื่อคืนความสมบูรณ์ให้ธรรมชาติ สร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยว รวมถึง สร้างรายได้ที่มั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ อีอีซี
การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง เพื่อให้เกิดระบบบริหารจัดการเพาะพันธุ์สัตว์ทะเลอย่างยั่งยืน โดยไม่พึ่งพางบประมาณรัฐ จากการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานเพาะพันธุ์สัตว์ทะเล และหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมกิจกรรมปล่อยสัตว์ทะเลในพื้นที่ เช่น สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดระยอง เป็นต้น แนวทางการดำเนินงานโครงการนี้ คือ สกพอ. และ อบจ. ระยอง จะสนับสนุนงบประมาณให้แก่ศูนย์วิจัยฯ เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตลูกสัตว์ทะเลของศูนย์วิจัยฯ เช่น การผลิต ลูกกุ้ง ลูกหอย ลูกปลากะพง จำนวน 2 ล้านตัว มีต้นทุนการเพาะพันธุ์ตัวละ 1 บาท ตั้งราคาจำหน่ายตัวละ 2 บาท ส่งผลให้มีรายได้ในปีที่ 2 จำนวน 4 ล้านบาท สามารถเพิ่มปริมาณลูกสัตว์ทะเลที่เพาะพันธุ์ได้เป็น 4, 8, 16, 32 ล้านตัวในปีที่ 2-5 ตามลำดับ ทั้งนี้ สกพอ. และ อบจ. ระยอง จะประสานงานกับชาวประมงชายฝั่ง สถานที่ท่องเที่ยว และผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อให้นักเรียนนำไปจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวตัวละ 3 บาท (ถุงละ 60 บาท มีลูกสัตว์ทะเลจำนวน 20 ตัว) ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ทั้งนี้ ผู้ขายจะได้รับส่วนแบ่ง 1 บาทต่อตัว ส่งผลให้มีรายได้ 2 ล้านบาทและทวีคูณเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งจะช่วยให้มีรายได้ถึง 32 ล้านบาทภายในเวลาเพียง 5 ปี ซึ่งจะมีการประเมินเพื่อศึกษาปริมาณสัตว์ที่ควรปล่อยสู่ทะเลเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งนี้ การที่ อบจ. ระยอง ร่วมสนับสนุนงบประมาณในการเพาะพันธุ์ด้วย 1 ล้านบาทในปีแรกนั้น ช่วยให้โครงการประสบความสำเร็จเร็วขึ้นอย่างมาก และจะมีลูกสัตว์ทะเลที่ถูกปล่อยสะสมในปีที่ 5 ถึงกว่า 64 ล้านตัวเลยทีเดียว
เมื่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวและนักเรียนในพื้นที่มีรายได้จากการจำหน่ายลูกสัตว์ทะเลให้นักท่องเที่ยวแล้ว จะนำรายได้กลับมาซื้อลูกพันธุ์สัตว์ทะเลจากศูนย์วิจัยฯ เพื่อนำไปจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์โครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศในลักษณะ
ที่เข้าใจง่าย เช่น กิน 2 ตัว ปล่อย 20 ตัว เป็นต้น
“การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาความยั่งยืนของสัตว์ทะเลในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกในครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สกพอ. กรมประมง ททท.อบจ.ระยอง สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดระยอง และ ศูนย์วิจัยฯ ที่นอกจากจะร่วมมือกันพลิกฟื้นท้องทะเลไทยให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ยังจะช่วยสร้างอาชีพที่มั่นคง และสร้างรายได้ให้กับประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ อีอีซี อีกด้วย” เลขาธิการ สกพอ. กล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว จะสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่ และนักเรียน เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และที่สำคัญ ทำให้ศูนย์วิจัยฯ มีรายได้มาบริหารจัดการในปีถัดไป โดยไม่พึ่งพางบประมาณรัฐ และตั้งใจจะขยายรูปแบบบริหารจัดการความยั่งยืน
ในลักษณะนี้ไปยังพื้นที่ อื่น ๆ ต่อไป
กิน 2 ตัวปล่อย 20 ตัว โครงการนักท่องเที่ยวช่วยสร้างความยั่งยืน: สัตว์ทะเล Tourists for Sustainable Development: Sea Creature
วิธีดำเนินการ
1.อีอีซี และ อบจ.ระยอง มอบเงิน 2 ล้านบาทให้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง กรมประมง เพื่อผลิตลูกสัตว์ทะเล เช่น ลูกกุ้ง ลูกหอย ในจำนวน 2 ล้านตัว (ต้นทุน 1 บาท) ตั้งราคาจำหน่ายตัวละ 2 บาท ได้รายได้ในปีที่ 2 จำนวน 4 ล้านบาท ไปขยายพันธุ์สัตว์ทะเลได้ 4, 8, 16, 32 ล้านตัวในปีที่ 2, 3, 4, 5 ตามลำดับ
2.อีอีซี และ อบจ.ระยอง ประสานนำไปให้ชาวประมงชายฝั่ง และสถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ อีอีซี จัดนักเรียนให้ขายกับนักท่องเที่ยว ตัวละ 3 บาท (ถุงละ 20 ตัว ราคาถุงละ 60 บาท) โดยได้ค่าขาย 1 บาทต่อตัว ผู้ขายก็จะได้รายได้ 2, 4, 8, 16, 32 ล้านบาทต่อปี ในปีที่ 1, 2, 3 ,4, 5 ตามลำดับ
3.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ช่วยทำแคมเปญโครงการนี้
ในลักษณะที่เข้าใจง่าย เช่น กิน 2 ตัวปล่อย 20 ตัว ให้กับนักท่องเที่ยว ไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะประสานงานเพื่อจัดจุดปล่อยลูกสัตว์น้ำ
ที่เหมาะสม
ข้อสังเกต
1.การที่ อบจ.เข้ามาช่วยค่าเพาะเลี้ยง 1 ล้านบาทในปีแรกทำให้โครงการ
เร็วขึ้นเท่าตัว และจะมีลูกสัตว์ทะเลที่ถูกปล่อยในปีที่ 5 ถึง 64 ล้านตัว
2.ในปัจจุบันต้นทุน 1 บาทนับรวมต้นทุนแปรผันและค่าเสื่อมราคาของอาคารและอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม ศูนย์บ่มเพาะมีความสามารถในการผลิตได้ 10 ล้านตัว ดังนี้ ในปีที่ 3 อาจต้องลงทุนสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติม