ดึง“ฟินเทค”ร่วมหารือเวทีคลังอาเซียน
สศค.วางกรอบหารือส่วนราชการ “คลังอาเซียน” ยึดแนวทาง “เชื่อมโยง ยั่งยืน สร้างภูมิคุ้มกัน” เป็นกรอบหารือด้านการเงินและการคลัง เน้นนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์การชำระเงินและบริการทางการเงินแก่ชาติสมาชิกฯ รวมถึงสร้างเกราะป้องกัน “ภัยไซเบอร์และโจรสินทรัพย์ดิจิทัล”
นายพิสิทธิ์ พัวพัน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษก สศค. และนายณัฏฐวุฒิ ธรรมศิริ ผอ.สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สศค. ร่วมกันแถลงถึงแนวคิดหลักที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง จะต้องเข้าร่วมประชุมหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียน ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีคลังอาเซียน ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยจัดให้มีขึ้น ณ จังหวัดเชียงราย ช่วงวันที่ 4-5 เม.ย.ที่จะถึงนี้ ว่า ทุกอย่างจะเป็นไปตามกรอบแผนงานหลักที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะ “ประธานอาเซียน” กำหนดไว้ คือ “ความเชื่อมโยง ความยั่งยืน และการสร้างภูมิคุ้มกัน”
ทั้งนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งในซีกของกลุ่มประเทศอาเซียนเก่า 6 ประเทศ คือ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ บรูไน และไทย และกลุ่มอาเซียนใหม่ ประกอบด้วย กัมพูชา, ลาว,เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) แม้ว่ากลุ่มอาเซียนเก่าจะมีระดับการพัฒนาที่สูงกว่ากลุ่มอาเซียนใหม่ แต่หากมองที่อัตราการเติบโตของกลุ่ม CLMV แล้ว ก็จะเห็นว่ามีการเติบโตที่สูงในระดับที่ดีทีเดียว
ประเด็นที่จะหารือในเวทีดังกล่าว ครอบคลุมทั้งเรื่องการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม ฯลฯ รวมถึงการชำระเงินและบริการทางการเงิน ซึ่งจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้การค้าระหว่างประเทศได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่ง โดยเฉพาะการชำระเงินผ่านระบบ QR Code และในปีนี้ รัฐบาลของทุกประเทศเห็นพ้องที่จะให้น้ำหนักความสำคัญของความร่วมมือในการวางระบบ “ไซเบอร์ ซิเคียวรีตี้” เพื่อป้องกันปัญหาจากภัยไซเบอร์ที่อาจจะมีตามมาในอนาคต
นอกจากนี้ ยังจะหารือในประเด็นอนาคตของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่มีกฎหมายออกมาเพื่อกำกับดูแลส่งเสริมสินทรัพย์ดิจิทัล และธุรกรรมที่จะมีตามมา โดยเห็นว่าสิ่งนี้จะเป็นอนาคต ทั้งต่อระบบเศรษฐกิจไทยและอาเซียน ซึ่งรัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นระบบและเท่าทัน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศ จากกลุ่มที่มุ่งหวังจะหลอกลวงและฉ้อฉลประชาชนจากสินทรัพย์ดิจิทัล
ในส่วนของรัฐมนตรีคลังอาเซียนนั้น ภายหลังการประชุมในช่วงเย็นของวันที่ 5 เม.ย. ก็จะมีการแถลงผลการประชุมและข้อตกลงที่มีร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม การชำระเงินและบริการทางการเงิน
นอกจากภาพรวมข้างต้นแล้ว ในรายละเอียดปลีกย่อยที่แต่ละประเทศ จะทำข้อตกลงร่วมกันในลักษณะ “ทวิภาคี” เช่น ไทย-มาเลเซีย จะทำข้อตกลงว่าด้วยการเปิดเสรีทางการเงินระหว่างกัน ผ่านการทำธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนของแต่ละประเทศ อย่างละ 1 แห่งก่อน รวมถึงการยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับการถือหุ้นของบริษัทต่างๆ จากเดิมที่ทางการไทยเคยกำหนดว่าจะต้องมีคนสัญชาติไทยถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 แต่จากนี้ไป ข้อกำหนดดังกล่าวจะถูกยกเลิกไปในการประชุมครั้งนี้
สำหรับกองทุนอาเซียนที่จัดตั้งเมื่อปี 2552 ด้วยวงเงินราว 485.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯนั้น กองทุนดังกล่าวได้ถูกกู้ยืมจากประเทศสมาชิกอาเซียน (อินโดนีเซียและเวียดนาม) เพื่อใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นที่ฐานของประเทศ ถึงตอนนี้ เงินกองทุนฯมีเหลือน้อยมาก จำเป็นที่ประเทศสมาชิกจะต้องหาแนวทางการเพิ่มเงินกองทุนใหม่ ซึ่งจากข้อมูลระบุว่า นักลงทุนจากชาติตะวันตกให้ความสนใจที่จะเข้าลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) โดยที่ประชุมฯคงจะหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าวตามมา.