กรุงไทยเปิด Krungthai Innovation Lab
แบงก์กรุงไทย เปิด Krungthai Innovation Lab ยกระดับการให้บริการแบบครบวงจร รับการก้าวสู่ Invisible Platform ด้วย 4 แกนสำคัญหนุน Digital Payment Platform ภาครัฐ หวังผลักดันสู่สังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบ
แอปพลิเคชั่น กรุงไทย NEXT ที่เพิ่งเปิดตัวไปเพียง 5 เดือน แต่มีผู้มาดาวน์โหลดแอปฯเพื่อนำไปใช้ถึง 5 ล้านคน และมียอดการใช้งานผ่านการทำธุรกรรมต่างๆ กว่า 500 ล้านครั้ง แถมผู้บริหารระดับสูง ยังคาดหวังจะเห็นยอดดาวน์โหลดในสิ้นปีนี้ ทะลุ 10 ล้านคน ทว่าสิ่งนี้ แม้จะถือว่า “สุดยอด” แล้ว ยังเป็นเพียงแค่ “Subset” ของ Krungthai Innovation Lab หรือ “ศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง” ที่เพิ่งเปิดตัวสดๆ ร้อนๆ ท่ามกลางแขกรับเชิญและสื่อมวลชนจำนวนมาก เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ย้ำว่า ท่ามกลางสภาวะ “Technolog Disruption” จำเป็นที่ธนาคารฯต้องเร่งปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงตอบโจทย์ของลูกค้าที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึง หากยังความอยู่รอดของธนาคารฯได้อีกด้วย การเกิดขึ้นของ Krungthai Innovation Lab ถือเป็นความสำเร็จของทีมงานฯ ที่มีการดึงคนระดับ “ด๊อกเตอร์ (PhD)” ด้านเทคโนโลยีมาร่วมพัฒนา คิดต้น และต่อยอด ในลักษณะ “Technology Homemade”
ทั้งนี้ ไม่เพียงประหยัดต้นทุนดำเนินการ แต่ “Technology Homemade” ยังตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค (ลูกค้า) และพันธมิตรของธนาคารฯ โดยเฉพาะ 5 กลุ่มหลักๆ ที่ถือว่าเป็น 5 Ecosystems สำคัญ ได้แก่ กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มการชำระเงิน กลุ่มสุขภาพและการรักษาพยาบาล กลุ่มมหาวิทยาลัยและการศึกษา และกลุ่มระบบขนส่งมวลชน
“จากประกาศยุทธศาสตร์ดิจิทัล สู่การเป็น Invisible Banking ที่มีการทำ “ธุรกรรมในอากาศ” ผ่านกลยุทธ์ 5 P โดยสร้าง Platform ที่แข็งแกร่งเพื่อเชื่อมโยง 5 Ecosystems ครั้งนี้ นอกเหนือจากความร่วมมือกับพันธมิตรในการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่เหมาะสม (People) นำเทคโนโลยีมาช่วยปรับกระบวนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น (Process) รวมทั้งเร่งยกระดับการให้บริการไปสู่ดิจิทัลผ่านทุกช่องทาง (Performance) ซึ่งธนาคารฯได้ทำควบคู่กับการสร้าง Krungthai Innovation Lab เพื่อเป็นศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูง ตอบโจทย์กลยุทธ์ 5 P ข้างต้น” นายพยงกล่าว
สำหรับ Krungthai Innovation Lab ประกอบด้วย 4 แกนสำคัญ คือ 1.Business Innovation 2.Data Innovation 3.Product & Process Innovation และ 4.IT Innovation โดยแต่ละแกนมีการจัดตั้งทีมงานดูแล รวมทั้งมีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานใหม่ สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาบุคลากร กระบวนการทำงาน และทักษะที่ทันสมัย รวมทั้งเป็นต้นแบบในการพัฒนา Software ด้วยแนวคิดแบบ Agile ซึ่งมุ่งเน้นการส่งมอบ Software ที่ยืดหยุ่นสูง เพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ โดยแต่ละแกนได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ดังนี้
แอปพลิเคชั่น กรุงไทย NEXT ซึ่งมีศูนย์สั่งการด้วยจออัจฉริยะ ติดตามทุกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น มีระบบแจ้งเตือนแบบ Real time ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงจุดและทันท่วงที ล่าสุดได้พัฒนา 5 ฟีเจอร์ใหม่ ได้แก่ บริการถอนเงินไม่ใช้บัตร ผ่านเครื่องเอทีเอ็มกรุงไทย เปิดบัญชีออนไลน์ไม่มีขั้นต่ำ ไม่เสียค่าธรรมเนียมรักษาบัญชี บริการตรวจสอบเครดิตบูโรออนไลน์ ด้วยตนเองตลอด 24 ชั่วโมง Krungthai Connext รู้ทุกความเคลื่อนไหวทางการเงินผ่าน LINE สมัครง่าย ไม่มีค่าใช้จ่าย และ สมาร์ท AI ระบบอัจฉริยะที่รู้ใจ แนะนำรายการธุรกรรมที่สำคัญ พร้อมโปรโมชั่นพิเศษเฉพาะผู้ใช้งานแต่ละท่าน
AI Innovation แบ่งเป็น 3 ด้านคือ 1.Visual ด้วยระบบ Face Recognition สแกนใบหน้า ระบุตัวตนลูกค้า ป้องกันการทุจริตทุกรูปแบบ, ระบบ Smart Document ให้ลูกค้าที่ต้องการทำธุรกรรม เช่น ขอสินเชื่อ เปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์, ระบบ Object Detection ซึ่งเป็น Security Alert สามารถแยกแยะและจับสังเกตบุคคลหรือวัตถุเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตราย รวมทั้งใช้ในการจัด Traffic ภายในสาขาได้อีกด้วย 2.Voice เป็น Smart AI รองรับการแปลภาษาถึง 9 ภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สามารถแปลงเสียงเป็นอักษร และแปลงอักษรกลับเป็นเสียง โดยจะนำมาใช้ใน Krungthai Call Center และ Booth Exchange รวมทั้งสาขา 3.Chat Bot ระบบให้ข้อมูลอัจฉริยะ ให้คำแนะนำลูกค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการ
สาขารูปแบบดิจิทัล นำเทคโนโลยีที่สามารถรับมือกับอาชญากรรมยุคใหม่ โดยได้ทยอยติดตั้งเครื่องตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ เชื่อมข้อมูลกับทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย และใช้เทคโนโลยี e-Signature เพื่อตรวจสอบลายเซ็นที่สามารถตรวจจับความถูกต้องและแม่นยำ เพื่อทำรายการต่างๆ ที่เคาน์เตอร์สาขาทั่วประเทศ ทั้งยังสามารถรับหลักฐานการทำธุรกรรมผ่านทางอีเมล และ SMS
การเชื่อมโยง 5 Ecosystems เช่น กลุ่มระบบขนส่งมวลชน ผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถนำบัตรไปซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้า BTS ขสมก. รถไฟฟ้ามหานคร MRT รวมถึงจ่ายค่าผ่านทางพิเศษผ่านเครื่อง EDC ของธนาคารฯ โดยอนาคตเตรียมนำเทคโนโลยี Face Access จดจำใบหน้าของผู้ใช้บริการมาแทนตั๋วโดยสาร อีกทั้งสามารถตัดยอดเงินเพื่อชำระค่าบริการได้ด้วย กลุ่มมหาวิทยาลัยและการศึกษา พัฒนา U App อำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัยด้วยฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ทุกการใช้งาน เช่น การชำระเงินค่าเทอม การเช็คตารางเรียน การยืมหนังสือในห้องสมุด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีระบบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแบบดิจิทัล (DSL) เพื่อตอบสนองการปฏิบัติงานของกองทุนฯ ผู้กู้ยืมและผู้ค้ำในรูปแบบ Paperless และ Digital ID กลุ่มการชำระเงิน พัฒนาแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แอปพลิเคชั่น เป๋าตุง และแอปพลิเคชั่น ถุงเงินประชารัฐ เพื่อให้บริการแก่ร้านค้า รวมทั้งติดตั้ง QR Code ในร้านค้า รถโดยสารประจำทาง เพื่อการก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง
เทคโนโลยี Blockchain ช่วยทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ สะดวกรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย ยกระดับความปลอดภัย ป้องกันการสวมสิทธิ์ลูกค้า มั่นใจได้ว่าข้อมูลจะไม่ถูกแก้ไข เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ โดยธนาคารฯได้นำ Digital ID Platform ซึ่งเป็นระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านการสแกนใบหน้า (Face Recognition) สำหรับเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชั่น กรุงไทย NEXT นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้า (TFEX) และ KT ZMICO ทำโครงการ Joint Exchange Development Initiative (JEDI) เพื่อให้บริการแลกเปลี่ยนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures Contract) เป็นเงินสกุลดอลลาร์หรือบาท ภายใน 3 ชั่วโมง จากเดิม 30 วัน
“ธนาคารฯสนับสนุนภาครัฐขับเคลื่อน Digital Payment Platform อย่างเต็มที่ เริ่มจากโครงการ National E Payment การวางระบบ Digital Payment Super Highway เพื่อสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่คนไทยในทุกภาคส่วนทั่วประเทศ สำหรับ Krungthai Innovation Lab คือ ก้าวต่อไปที่สำคัญในการคิดค้นนวัตกรรมที่ทันสมัยและปลอดภัย เหมาะกับการใช้งาน ง่ายต่อการขยายตัว สามารถรองรับการใช้งานที่หลากหลาย โดยเน้นให้เกิดการทำงานแบบร่วมมือในทุกภาคส่วน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการวางรากฐานการบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ เชื่อมโยงธนาคารกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในทุกมิติ ภายใต้แนวคิด Invisible Platform” นายพยงย้ำ.