กนอ.สั่งระงับกิจการ-ใช้อาคารส่วนที่เสียหาย สาเหตุเพลิงไหม้ รง.ในนิคมฯ บางปู
กนอ.สั่งระงับกิจการ-ใช้อาคารส่วนที่เสียหาย กำชับเร่งหาสาเหตุเพลิงไหม้โรงงานในนิคมฯ บางปู
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งหาสาเหตุเพลิงไหม้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปู แจงเจ้าหน้าที่ควบคุมเหตุการณ์ได้ภายใน 1.15 ชั่วโมง โดยไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ไร้สารเคมีหรือมลพิษที่เป็นอันตรายกับชุมชน พร้อมสั่งการให้โรงงานระงับการประกอบกิจการชั่วคราว
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สำหรับเหตุเพลิงไหม้โรงงานของบริษัท มินเทค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ตำบลแพรกษา อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเวลาประมาณ 23.15 น. ของวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา
โดยบริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและประกอบหมวกกันกระแทก และหมวกนิรภัยสำหรับใช้เล่นกีฬา มีพื้นที่กว่า 5 ไร่ เหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นบริเวณด้านข้างโรงงาน ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมบางปูได้ประสานไปยังสถานีดับเพลิง และนักผจญเพลิงในพื้นที่เข้าดำเนินการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน จนสามารถควบคุมเพลิงและระงับเหตุได้ในเวลา 00.30 น. ของวันที่ 25 มี.ค. 2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเพื่อหาสาเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งไม่มีสารเคมีหรือมลพิษที่เป็นอันตรายกับชุมชนรอบข้าง ส่วนมูลค่าความเสียหายยังไม่สามารถประเมินได้ ต้องรอให้มีการตรวจสอบรายละเอียดก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับน้ำที่ใช้ในการระงับเหตุเพลิงไหม้ กนอ. ได้ทำการ ปิดกั้นลำรางระบายน้ำฝนภายในและบริเวณโดยรอบโรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่เกิดจากการดับเพลิงรั่วไหลออกสู่ภายนอกโรงงาน รวมทั้งให้บริษัทฯ เร่งบำบัดให้ได้ตามมาตรฐานที่ กนอ.กำหนดต่อไป
“กนอ. อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งการให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการชั่วคราวและปรับปรุงแก้ไขโรงงาน ซึ่งหลังจากนี้บริษัทฯ ต้องยื่นเอกสารแสดงผลการปรับปรุงอาคารโรงงาน รวมถึงตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร และความปลอดภัยของระบบอุปกรณ์ภายในโรงงาน ที่ต้องผ่านการรับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจัดส่งให้ กนอ. พิจารณาตรวจสอบก่อน” นายวีริศ กล่าว
แม้ว่าภายหลังสามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว ผู้ว่าการ กนอ. ยังสั่งการให้เร่งทบทวนมาตรการป้องกันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยด่วน จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างหากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก เพื่อให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและเกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด