นายกฯ ตรวจ ศูนย์ทดสอบยานยนต์
นายกฯ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน คาดแล้วเสร็จเงินสะพัดกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี สนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 150,000 ตัน
วันนี้ (20 มี.ค.62) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดฉะเชิงเทราและได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ณ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ภายในกรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท รัฐเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 และระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ระยะเวลาการดำเนินการ 5 ปี บนพื้นที่ 1,234.98 ไร่ ณ ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อให้บริการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อตามมาตรฐานสากล
โครงการระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 ประกอบด้วย สนามทดสอบยางล้อ เพื่อใช้ทดสอบยางล้อ ในรายการเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน และการยึดเกาะถนนบนพื้นเปียก ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จและได้รับการรับรองจาก Applus+IDIADA ราชอาณาจักรสเปน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล โดยในส่วนของห้องปฏิบัติการทดสอบเพื่อใช้ทดสอบยางล้อ ในรายการความต้านทานการหมุน และอาคารสำนักงานจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปีนี้
โครงการระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2565 ขณะนี้ได้ออกแบบและปรับพื้นที่เสร็จแล้วเพื่อรองรับการก่อสร้างสนามทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน รวม 5 สนาม คือ
1) สนามทดสอบระบบเบรก (Brake Performance)
2) สนามทดสอบระบบเบรกมือ (Park Brake)
3) สนามทดสอบเชิงพลวัต (Dynamic Platform)
4) สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง (Skid-Pad)
5) สนามทดสอบสมรรถนะยานยนต์ (Long Distance and High Speed)
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในเอกสารแสดงสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ระยะที่ 2 พร้อมให้นโยบายในการดำเนินงานโครงการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการยานยนต์ไทยว่า ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565
สำหรับศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติเป็นกลไกสำคัญของประเทศไทย ช่วยเร่งรัดการพัฒนาการมาตรฐาน การวิจัยและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรม 4.0 โดยประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ คือ ช่วยให้ผู้ประกอบการลดเวลาในการส่งทดสอบผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนลงอย่างน้อย 2 เดือน เนื่องจากไม่ต้องส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ ปีละ 119 ล้านบาท อีกทั้งยังช่วยดึงดูดนักลงทุนอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้ปริมาณการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 40 หรือประมาณ 150,000 ตัน เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราในประเทศ ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 6 ล้านคน ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดการจ้างงานบุคลากรในพื้นที่ ด้านช่างเทคนิคไม่น้อยกว่า 200 คน และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกไม่น้อยกว่า 2,000 คน คิดเป็นรายได้ 500-1,000 ล้านบาทต่อปี เกิดการลงทุนธุรกิจการค้าและธุรกิจต่อเนื่อง สร้างรายได้ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายของการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอนาคต นอกจากนี้ ยังเอื้อให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมการวิจัยและพัฒนายานยนต์ต้นแบบ ตามเป้าหมายที่สำคัญของอุตสาหกรรม S-Curve ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อีกด้วย.