ท่องเที่ยวไทยสดใสหลังพิษโควิดเหลือแค่โรคประจำถิ่น
ผลการประชุมสด ๆ ร้อน ๆ จากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ บค. ชุดใหญ่ ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นั่งหัวโต๊ะ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ผ่านแผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่ “โรคประจำถิ่น” เป็นที่เรียบร้อย เรื่องนี้นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งกับทิศทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยในช่วงที่เหลือของปี
นั่นเพราะข้อกำกัดต่าง ๆ จะค่อย ๆ คลายล็อกมากขึ้น ส่งผลดีต่อการเดินทางท่องเที่ยวทั้ง 2 ขา ทั้งขาในประเทศ คือคนไทยเที่ยวกันเอง และขาต่างประเทศ คือการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยได้สบายหวิว ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรมาบังคงให้ต้องวุ่นวาย
ตามไทม์ไลน์ของการปลดล็อกโรคระบาดร้ายสู่โรคประจำถิ่น กระทรวงสาธารณสุข กางแผนเอาไว้ด้วยกัน 4 ระยะ เป็นการรองรับการเปลี่ยนผ่าน ไล่เรียงมาตามลำดับ คือ
ระยะที่ 1 ตั้งแต่ 12 มี.ค.65 – ต้นเม.ย.65 เรียกว่า Combatting เป็นระยะต่อสู้ ออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เพื่อลดการระบาดและความรุนแรงลง จะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาต่อเนื่องเพื่อควบคุม
ระยะที่ 2 ตั้งแต่ เม.ย.65 – พ.ค.65 เรียกว่า Plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น เป็นระนาบจนลดลงเรื่อย ๆ
ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปลาย พ.ค.65 -30 มิ.ย.65 เรียกว่า Declining ลดจำนวน ผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1-2 พันราย
ระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาดเข้าสู่โรคประจำถิ่น
จะเห็นได้ว่า ตามแผนทั้ง 4 ระยะนั้นกำหนดแนวทางไว้ค่อนข้างชัดเจน เป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงของโรคระบาด ให้เสร็จสิ้นก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว หรือ ไฮซีซั่น อย่างเต็มตัวในช่วงปลายปี ซึ่งหากทำได้ตามแผนคือวันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป ก็น่าจะทำให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่
แต่…!!! ก็อย่าชะล่าใจ เพราะทั้งหมดเป็นเพียงแค่แผนบริหารจัดการ แตกต่างจากสถานการณ์จริงเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนการมองเป้าหมายว่าการปลดล็อกแล้วจะทำให้ประเทศไทยอยู่กับโรคได้เหมือนกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกนั้น ต้องกลับมาดูบริบทของประเทศไทยประกอบไปด้วย เพื่อให้แน่ใจว่า ท้ายที่สุดแล้วหากลุยเต็มที่เปิดให้คนเข้ามาเที่ยวเสรี ไม่ใส่หน้ากาก กระตุ้นกิจกรรมการท่องเที่ยว เปิดแหล่งบันเทิงหมดแล้ว หากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง อาจทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยวทรุดหนักไปกว่าเดิมได้
เรื่องนี้ต้องชั่งใจ และบริหารจัดการให้ชัวร์!!
มีความเห็นที่น่าสนใจของ “ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยอมรับว่า ในระยะยาวจะเห็นผลกระทบจากโควิด19 อีกหลายมุมด้วยกัน โดยเฉพาะผลทางอ้อมจากต่างประเทศมีแนวโน้มว่า คนต่างประเทศจะจนลงจากโควิด แน่นอนว่า หากเป็นอย่างนั้นจะกระทบกับการท่องเที่ยว หรือการจัดประชุมในไทยแน่นอนอีก ทั้งยังทำให้รายได้ของประเทศไทยจะยังกลับคืนสู่ภาวะปกติเก่า (old normal) ได้ยาก
แต่ใช่ว่าทั้งหมด จะไม่เกิดเรื่องดีอะไรเลยสำหรับการท่องเที่ยวของไทย เพราะแม้ว่าที่ผ่านมาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยาวนานถึง 2 ปี จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยว และบุคลากรต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องลมหายตายจากไปมาก แต่สิ่งที่เข้ามาชดเชยเรื่องทั้งหมดคือ สถานที่ท่องเที่ยวของไทยที่กลับมาฟื้นฟูเปล่งปลั่ง โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ทั้ง ป่า เขา ทะเล ชายหาด และสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ธรรมชาติเหล่านี้ได้ถูกทำลายด้วยฝีมือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเกินขีดความสามารถของธรรมชาติที่จะรองรับได้
พอเกิดโรคระบาดขึ้น ธรรมชาติต่าง ๆ จึงฟื้นคืนกลับมาสวยงามได้อีกครั้ง และเป็นภาพที่คนในพื้นที่เองก็ไม่ได้เห็นภาพของธรรมชาติรอบตัวกลับมาสวยเหมือนอดีตอีกครั้ง และน่าจะดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมหลังจากสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลงไปจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว
อย่างที่บอกว่า ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาแหล่งท่องเที่ยวของไทยถูกใช้ไปจนทรุดโทรม จนมองข้ามการวางรากฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน ที่ต้องคำนึงถึงขีดความสามารถของธรรมชาติในการรองรับนักท่องเที่ยว และก็ต้องขอขอบคุณไวรัสโควิด-19 อีกเช่นกัน ที่ทำให้คนหันมาตระหนักถึงการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนมากขึ้น หรือการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ จนทำให้เกิดเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกขึ้นมาในขณะนี้
เห็นได้จากผลสำรวจของ Booking.com เมื่อปีก่อน พบว่า 83% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่าการท่องเที่ยวยั่งยืนมีความสำคัญ โดยนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยยินดีจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยเองก็มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ และยังตอบโจทย์ความต้องการของประเทศที่หันมาเน้นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณเหมือนในอดีต
สิ่งที่พอสบายใจได้บ้าง แม้ว่า จากการประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจหลายสำนักเห็นตรงกันว่า ในระยะสั้น-กลาง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยอาจไม่กลับไปสู่ระดับเดิมที่ 40 ล้านคน โดยประเมินว่า ในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเฉลี่ย 5.7 ล้านคน ส่วนมากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ ทั้งการใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้น และพักนานขึ้น
ดังนั้นประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้สร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวใหม่ ให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยวยั่งยืนของโลก
ตามแผนของ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พยายามกำหนดแนวทางการสร้างความยั่งยืนของการท่องเที่ยวรองรับการท่องเที่ยวในยุคใหม่ หรือยุคที่ควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คือ ความสะดวก สะอาด ปลอดภัย พร้อมทั้งมองบทบาทใหม่ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย จำเป็นต้องพลิกฟื้นและเตรียมพร้อมภายใต้ความท้าทายใหม่ ทั้ง การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว การพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติมากไป ทำให้โครงสร้างการท่องเที่ยวมีความเปราะบาง โดยยกเอาบทเรียนจากสถานการณ์โควิดมาปรับตัวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
ทั้งนี้มีนโยบายสำคัญ ๆ เช่น 1.การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ผ่านมาตรการรัฐ และผลักดันการทำงานจากที่ไหนก็ได้ 2.การจัดทำมาตรฐานความสะอาด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว 3.วางแผนกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับเทรนด์โลก ทั้งสังคมสูงวัย การใช้เทคโนโลยี และการเดินทางด้วยตัวเอง และ 4.การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของไทยกับเพื่อนบ้าน เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากระยะไกลเข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้น และใช้เวลานานขึ้น ช่วยกระจายรายได้สู่ภูมิภาค
ขณะที่ตลาดเป้าหมายก็มีส่วนสำคัญที่ต้องวางแผนให้ดีเพราะโลกยุคหลังจากนี้จะมาใช้วิธีหว่านแบบอดีตไม่ได้ โดยต้องหันมาโฟกัสตลาดสำคัญที่เราต้องการ เรียกว่า รื้อการท่องเที่ยวครั้งใหญ่ ดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั่วโลกให้เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งทำได้ไม่ยาก โดยสามารถใช้ความได้เปรียบของประเทศไทยที่ยังคงเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกดึงดูดเข้ามาได้
อาทิเช่น กลุ่มที่พำนักระยะยาว กลุ่มครอบครัว กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มตลาดใหม่ทางตะวันออกกลาง กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวจากที่เคยได้เฉลี่ย 50,000 บาทต่อคนทต่อทริป ให้เพิ่มขึ้นเป็น 80,000 – 100,000 บาทต่อคนทต่อทริป
นอกจากนี้ยังมีอีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยว และการใช้จ่ายต่าง ๆ ให้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อ ทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการจ่ายเงินออนไลน์ และการใช้สกุลเงินดิจิทัล ที่สามารถมอบสิทธิประโยชน์ให้กับนักท่องเที่ยว หรือการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และแพล็ตฟอร์มการท่องเที่ยวที่คอยแจ้งขาวสาร และอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย
หากสามารถทำได้ทั้งหมด แน่นอนว่า อนาคตของการท่องเที่ยวไทยหลังจากผ่านจุดวิกฤตไปแล้ว น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ เป็นอย่างดี