สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 มี.ค. 65
ประเทศไทยตอนบน อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนลดลง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.กระบี่ (65 มม.) จ.ชุมพร (30 มม.) และ จ.นราธิวาส (29 มม.)
ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 29,715 ล้าน ลบ.ม. (51%) ขนาดใหญ่ 23,670 ล้าน ลบ.ม. (50%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 3 แห่ง (เขื่อนแม่งัด ภูมิพล และ สิริกิติ์)
คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน บางปะกง แม่กลอง อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปริมาณออกซิเจนละลายในแม่น้ำ ที่ท่าจีน และแม่กลอง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
ตามที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มอบ กอนช. ติดตาม 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65
โดย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. ติดตามผลการดำเนินการของทุกหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ 9 มาตรการฯ พบว่า ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศพื้นที่เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (ภัยแล้ง) แต่อย่างใด ขณะเดียวกัน จากมาตรการเร่งกักเก็บน้ำและบริหารจัดการน้ำในกิจกรรมต่างๆ ตามแผนการใช้น้ำตั้งแต่ฤดูแล้งที่ผ่านมา ล่าสุดปริมาณน้ำต้นทุนของแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งในปีนี้ มีปริมาณน้ำใช้การ 24,059 ล้าน ลบ.ม. หรือ 51% ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันในปี
ที่ผ่านมาเกือบ 10,200 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ และป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำค่อนข้างจำกัด ขณะนี้ได้จัดสรรน้ำมากกว่าแผนสะสมอยู่ 427 ล้าน ลบ.ม. ส่วนผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับใช้ไปจนสิ้นสุดฤดูแล้งและใช้ในช่วงต้นฤดูฝนคาดว่า ณ วันที่ 1 พ.ค. 65 จะมีปริมาณน้ำต้นทุน 42,165 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% ซึ่งประเมินสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูแล้งปีนี้ยังไม่น่าห่วง สำหรับแม่น้ำสายหลักค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ปกติไม่กระทบต่อการผลิตประปาและพื้นที่การเกษตร
ทั้งนี้ กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงเพื่อบริหารจัดการน้ำไม่ให้กระทบต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักและกำชับหน่วยงานบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด