ทอ.ย้ำอีก จำเป็นต้องซื้อเครื่องบินรบใหม่ ให้ทันสทัย ปกป้องชาติ
โฆษกกองทัพอากาศ ย้ำอีก จำเป็นต้องซื้อเครื่องบินรบ ให้ทันสทัย ปกป้องประเทศ
เมื่อวันที่ 9 มี.ค. พล.อ.ต.ประภาส สอนใจดี โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องจัดซื้อเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนว่า ตาม พรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 มาตรา 21 ระบุให้ กองทัพอากาศมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพอากาศ การป้องกันราชอาณาจักรและดำเนินการเกี่ยวกับการใช้กำลังกองทัพอากาศ ตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม มีผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ
พล.อ.ต.ประภาส กล่าวว่า ตามแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาศักยภาพของประเทศด้านความมั่นคง ของกระทรวงกลาโหม และแผนปฏิบัติการด้านการปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของกองทัพไทย ซึ่งกำหนดแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในการปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติ ระบุว่ากำลังทางอากาศต้องมีขีดความสามารถในการปฏิบัติการเชิงรุกที่ได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม และปฏิบัติการร่วมทั้งในและนอกประเทศ โดยใช้ระบบเครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric Operations) ทำให้กองทัพอากาศต้องเตรียมยุทโธปกรณ์ให้มีความพร้อม ทันสมัย มีศักยภาพทางทหารที่ทัดเทียมกับประเทศรอบบ้าน
พล.อ.ต.ประภาส กล่าวว่า ปัจจุบันเครื่องบินรบส่วนใหญ่ของกองทัพอากาศ มีขีดความสามารถจำกัดในการปฏิบัติการทางอากาศมีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน และจะเริ่มทยอยปลดประจำการตั้งแต่ พ.ศ.2564 จนถึง พ.ศ.2574 โดยใน พ.ศ.2575 กองทัพอากาศจะคงเหลือเครื่องบินขับไล่โจมตีต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถของกำลังรบทางอากาศลดลงจนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ และยังต้องแบกรับภาระการส่งกำลังและซ่อมบำรุงกับเครื่องบินรบจำนวนมาก ที่มีอายุการใช้งานสูงถึง 28-54 ปี จึงต้องพัฒนาและจัดหายุทโธปกรณ์ที่จำเป็นและเพียงพอต่อหน้าที่ในการเตรียมการใช้กำลังทางอากาศ โดยคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานภาพงบประมาณของกองทัพอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ รองรับแผน ปฏิบัติการของกระทรวงกลาโหมและกองทัพไทย
โฆษกกองทัพอากาศ ระบุ กองทัพอากาศได้พิจารณาความคุ้มค่าในการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีโดยมุ่งเน้นคุณภาพเหนือปริมาณ เพื่อการป้องปรามและรู้ผลแพ้ชนะในการใช้กำลัง รวมทั้งสามารถทวีกำลังและเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติการร่วมระหว่างเหล่าทัพ ตลอดจนสร้างความมั่นคงร่วมกับมิตรประเทศในภูมิภาค กองทัพอากาศจึงได้กำหนดให้จัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีสมรรถนะสูงยุคที่ 5 มาทดแทนเครื่องบินขับไล่โจมตีแบบเดิมที่ล้าสมัย อันจะก่อให้เกิดความได้เปรียบของกำลังทางอากาศในการผนึกกำลังป้องกันประเทศ (United Defense) สนับสนุนการปฏิบัติการร่วมกับเหล่าทัพอื่น และยังเป็นเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ในการป้องปราม (Deterrence) หรือการป้องกันเชิงรุก (Active Defense) ตลอดจนสามารถร่วมปฏิบัติการทางทหารกับประเทศในภูมิภาคได้ ตามหลักคิดการสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงร่วมกับมิตรประเทศในภูมิภาค