จับตาสงครามดันราคาน้ำมันแตะ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯ
กกร.ห่วงหลายประเด็น หั่นจีดีพี เหลือ 2.5-4.5% เงินเฟ้อเพิ่มเป็น 2-3% พร้อมเสนอรัฐกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท พยุงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน หากราคาพุ่ง 120 เหรียญฯ น้ำมันในประเทศจะแพงขึ้นอีก 6 บาท
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังจากประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยประจำเดือนมีนาคม 2565 ว่า ขณะนี้ ยังไม่สามารถประเมินผลสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะจบลงอย่างไร แต่ที่ได้รับผลกระทบแล้วคือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ล่ามายืนที่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันที่บ้านเราแพงไปด้วย แม้ว่า รัฐบาลจะประกาศลดอัตราภาษีสรรสามิตน้ำมันดีเซลลงมาแล้ว 3 บาทต่อลิตรก็ตาม แต่ราคาน้ำมันดีเซลในปัจจุบัน ก็อยู่ใกล้ระดับ 29.74 สตางค์ต่อลิตร ใกล้แตะ30 บาทต่อลิตรแล้ว
“ กกร.กังวลว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอาจขยับไปสู่ระดับ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยประเมินว่า ราคาน้ำมัน ทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ปรับขึ้น จะทำให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับขึ้น 50 สตางค์ต่อลิตร หากราคาน้ำมันดิบขึ้นไปอยู่ที่ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จริง ราคาขายปลีกของไทยที่อาจต้องขึ้นไปอีก 6 บาท/ลิตรโดยเฉลี่ย กระทบต่อต้นทุนการผลิตภาพรวมของไทย ขณะเดียวกัน ยังส่งผลให้ข้าวสาลีที่เป็นวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์เกิดภาวะขาดแคลน ซึ่งยูเครนและรัสเซียเป็นผู้ส่งออกหลัก”
นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจากรัสเซีย 600,000 คน ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่า จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยก่อนหน้านี้ น่าจะหายไปราว 50% แต่รัฐบาลก็อาจจะดึงนักท่องเที่ยวอื่นๆ มาเสริม เช่น ซาอุดีอาระเบีย ก็อาจจะช่วยได้ระดับหนึ่ง
นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธาน สอท. กล่าวว่า การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนขณะนี้ กระทบกับประเทศไทยในหลายๆ ด้านทั้งเงินเฟ้อ การส่งออก วมถึงการท่องเที่ยว โดยเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นมากตามทิศทางราคาพลังงาน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจสูงกว่าระดับ 3% ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ ขณะที่การส่งออกได้รับผลกระทบทางตรงจากตลาดรัสเซียและยูเครนไม่มาก เนื่องจากไม่ใช่คู่ค้าหลัก แต่อาจจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจคู่ค้าอื่นที่ชะลอลง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป
ขณะที่ ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนสูง ซึ่งขณะนี้ บริษัทเอกชนเริ่มจะตรึงราคาไม่ไหวแล้ว ขณะที่บางรายทยอยปรับราคาแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลออกมาตรการเร่งด่วน ระยะสั้น เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงนี้ เช่น การเตรียมมาตรการเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันในประเทศไม่ให้สูงกว่านี้ โดยรัฐบาลอาจจะกู้เงินเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้พยุงราคาน้ำมันและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ตามมา
ส่วนการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เสนอให้รัฐบาลยกเลิกการตรวจ RT-PCR โดยปรับเป็นการตรวจด้วย ATK แทนพร้อมเสนอรัฐบาลยกเลิกมาตรการ Test & GO เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวและนักลง ทุนจากต่างชาติ ซึ่งจะเป็นแรงหนุนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่อไป สำหรับผลกระทบด้านลบของเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ กกร.ได้ปรับกรอบประมาณการเศรษฐกิจปี2565 ใหม่ เป็น 2.5-4.5% จากเดิม 3.0-4.5% คงการส่งออกโต 3-5% แต่ปรับอัตราเงินเฟ้อจาก 1.5-2.5% เป็น 2-3%
นอกจากนี้ ทาง กกร.ยังเป็นห่วงเรื่องนโยบาย Zero COVID-19 ของจีน ที่ต้องเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าผลไม้จากไทยที่ส่งออกเพื่อไปจีน ส่งผลให้ใช้เวลาขนส่งนานขึ้นเป็น 10-15 วัน จากเดิมใช้เวลาเพียง 3-5 วัน อีกทั้งความไม่แน่นอนในการเปิด-ปิดด่าน กกร.จึงขอให้เร่งเจรจากับรัฐบาลกลางจีน ให้เปิดด่านสถานีรถไฟบ่อหาน เพื่อรองรับสินค้าผลไม้ไทยให้ทันในเดือนเม.ย.2565 โดยเฉพาะทุเรียนปีนี้ คาดว่า จะมีปริมาณออกมาจำนวนมาก ทำให้เกิดภาวะราคาตกต่ำได้
นอกจากนี้ ทาง กกร.ยังเป็นห่วงเรื่องนโยบาย Zero COVID-19 ของจีน ที่ต้องเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าผลไม้จากไทยที่ส่งออกเพื่อไปจีน ส่งผลให้ใช้เวลาขนส่งนานขึ้นเป็น 10-15 วัน จากเดิมใช้เวลาเพียง 3-5 วัน อีกทั้งความไม่แน่นอนในการเปิด-ปิดด่าน กกร.จึงขอให้เร่งเจรจากับรัฐบาลกลางจีน ให้เปิดด่านสถานีรถไฟบ่อหาน เพื่อรองรับสินค้าผลไม้ไทยให้ทันในเดือนเม.ย.2565 โดยเฉพาะทุเรียนปีนี้ คาดว่า จะมีปริมาณออกมาจำนวนมาก ทำให้เกิดภาวะราคาตกต่ำได้