ยูเครนลี้ภัย หนีไปไหน ยังไง…
…ยูเครเนียนมากกว่า 5 แสนคน หลั่งไหลข้ามพรมแดนไปประเทศเพื่อนบ้าน หนีภัยสงครามรุกคืบจากกองทัพรัสเซียบุกยึดครองพื้นที่ได้แล้วเกือบทั้งประเทศ หลังกองทัพรัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันพฤหัสบดี 24 ก.พ. ปี 2022
ผู้ลี้ภัยสงครามจากยูเครน ส่วนใหญ่เป็นสตรี เด็กและผู้สูงอายุ พากันเดินทางด้วยเท้า รถยนต์และรถไฟ ข้ามพรมแดนไปขอพักพิงในชาติเพื่อนบ้านทวีปยุโรป อันได้แก่ โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย ฮังการีและมอนโดวา หรือไม่ก็อาจเดินทางไกลไปอีก สู่เยอรมนี อังกฤษและอื่นๆ
ส่วนพวกผู้ชายวัยหนุ่มใหญ่ หนุ่มน้อย พากันยืนหยัดอยู่ในประเทศยูเครนเพื่อปกป้องดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนจากการบุกรุกรบโดยกองกำลังทหารรัสเซีย
เฉพาะโปแลนด์ รับผู้ลี้ภัยสงครามจากยูเครนแล้วมากเกือบ 3 แสนคน รัฐบาลโปแลนด์อ้างตัวเลขผู้คนจากยูเครน เฉลี่ยเดินทางถึงพรมแดนโปแลนด์ วันละประมาณ 50,000 คน
โปแลนด์ต้องเตรียมความพร้อมแทบทุกด้าน ตั้งแต่งานการแพทย์และพยาบาล ท่ามกลางภัยระบาดโควิด-19 และสภาพอากาศหนาวเหน็บ ต้องเตรียมพร้อมสถานพยาบาลทั่วประเทศมากกว่า 1,230 แห่ง ทั้งเตรียมระบบขนส่งมวลชน ตลอดรวมถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆอีกหลายอย่าง
นับตั้งแต่ช่วงปี 2014 โปแลนด์ คือดินแดนหลบลี้ภัยของชาวยูเครนแล้วมากกว่า 1 ล้านคนที่พากันหนีจากดินแดนแคว้นไครเมีย ทางภาคใต้ยูเครน ซึ่งถูกรัฐบาลรัสเซียผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในปีนั้น
ส่วนชาติเพื่อนบ้านยูเครนอื่นๆที่ต้องรองรับผู้ลี้ภัยสงครามจากยูเครน คือ ฮังการี รับผู้ลี้ภัยแล้วกว่า 71,158 ราย โรมาเนีย รับผู้ลี้ภัยจากยูเครนแล้ว 43,184 ราย มอนโดวา รับผู้ลี้ภัยแล้ว 41,525 ราย และสโลวาเกีย รับผู้ลี้ภัยแล้วกว่า 17,648 ราย แต่สโลวาเกีย อ้างผู้ลี้ภัยจากยูเครนเดินทางถึงพรมแดนสโลวาเกียเพิ่มขึ้นมากตลอดช่วงหลายวันที่ผ่านมา เฉลี่ยวันละ 10,000 ราย
เงื่อนไขการขอเข้าประเทศเพื่อนบ้านของชาวยูเครนห้วงเวลานี้ แทบไม่ต้องใช้เอกสารใดๆมากมาย แต่ผู้ลี้ภัยควรมีเอกสารติดตัวบ้าง อาทิ บัตรแสดงตนเป็นชาวยูเครนหรือหนังสือเดินทาง ใบสูติบัตรรับรองเด็กเป็นชาวยูเครน หรือไม่ก็เอกสารการแพทย์อื่นๆ และถ้าเป็นชาวต่างชาติต้องมีหลักฐานอนุญาตพำนักในยูเครนฐานะใด
แต่ปัญหาที่พบคือ ผู้คนจากยูเครนจำนวนมากต้องรอผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งบางจุดบริเวณพรมแดนต้องต่อแถวยาวเหยียดมากถึง 15 กม.
เมื่อผ่านข้ามพรมแดนยูเครนสู่ชาติเพื่อนบ้านแล้ว ผู้ลี้ภัยจะถูกจัดให้อยู่ตาม “ศูนย์แรกรับ” โดยได้รับอาหารและการดูแลตามสภาพความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
แต่กรณีของสาธารณรัฐเชก รัฐบาลมีแผนเตรียมความพร้อมผู้อพยพลี้ภัยโดยแต่ละรายต้องผ่านกระบวนการยื่นทำเรื่องพิเศษเพื่อขออนุมัติรับรองสถานะอีกขั้นหนึ่ง
ส่วนรัฐบาลอังกฤษ กำหนดเงื่อนไขยอมรับผู้ลี้ภัยจากยูเครนค่อนข้างเข้มงวดรัดกุม คือ “ต้องมีญาติหรือคนรู้จักเป็นพลเมืองอังกฤษ” และต้องดำเนินการด้านเอกสารที่สำนักงานในยูเครนหรือไม่ก็ตามสำนักงานประเทศอื่นๆก่อน
และเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาต “วีซ่า” เข้าอังกฤษได้คือ ต้องเป็นคนรักของชาวอังกฤษ หรือไม่ก็คนรักของเจ้าหน้าที่รัฐบาลอังกฤษ ถ้ายังไม่ได้แต่งงานกันก็ต้องเคยพักอาศัยด้วยกันอย่างน้อย 2 ปี และถ้าเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะมีโอกาสได้รับวีซ่าเข้าอังกฤษง่ายขึ้นเช่นเดียวกับผู้อายุน้อยกว่า 18 ปีที่มีผู้ปกครองมาด้วย
ข้อมูลสหภาพยุโรป อ้างตัวเลขผู้ลี้ภัยจากยูเครนอาจมากได้ถึงกว่า 7 ล้านคน ส่วนผู้คนชาวยูเครนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการบุกรุกคืบของกองทัพรัสเซียแล้วมากกว่า 18 ล้านคน จากจำนวนประชากรยูเครนทั้งประเทศ ประมาณ 41 ล้านคน
ภายใต้เงื่อนไขสหภาพยุโรป ผู้ลี้ภัยจากยูเครนสามารถอยู่อาศัยและทำงานในกลุ่มชาติสหภาพยุโรป 27 ประเทศได้ในระยะเวลามากกว่า 3 ปี แต่สิทธิการตั้งถิ่นฐานใหม่ในชาติสมาชิกสหภาพยุโรปสำหรับชาวยูเครนนั้น ถูกยกเลิกไปแล้ว.