“บิ๊กหมง” ชี้ SME D Bank สำเร็จเกินคาดหมาย
“ก้าวต่อไปของ SME D Bank คือ ก้าวของผู้ประกอบการ ไม่ใช่ก้าวของธนาคารฯ และจะต้องไม่ยึดติดอยู่กับตัวบุคคล (ผู้บริหาร) แต่ต้องยึดการทำงานเป็นทีม และมีเป้าหมายที่ชัดเจน สิ่งสำคัญ คือ ต้องยึดที่ความพึงพอใจของลูกค้า”
“ทั้งนี้ ความสำเร็จของ SME D Bank มาจากความสำเร็จของผู้ประกอบการ โดยวัดจากการที่พวกเขาขายของได้มากขึ้น มีกำไรมากขึ้น ขายสินค้าได้ไกลขึ้น (ออนไลน์) และมีลูกค้าเยอะขึ้น ส่วนตัว…ผมพอใจกับผลงานที่ออกมา พูดได้ว่า…ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย”
ข้างต้น คือความรู้ลึกๆ ที่ นายมงคล ลีลาธรรม ว่าที่อดีตกรรมการผู้จัดการ SME D Bank หรือ ธนาคารพัฒนาวิสากิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวไว้ในงาน “เรื่องเล่าจากใจ ก้าวต่อไปของ SME D Bank” หนึ่งวันก่อนที่เขาจะอำลาจากเก้าอี้ตัวนี้ ในวันรุ่งขึ้น (8 มี.ค.62)
ก่อนที่จะหมดวาระการดำเนินงาน ซึ่ง 3 ปีเศษก่อนหน้านี้ หลายคนเคยแสดงความเป็นห่วง ด้วยเกรงจะอยู่ไม่ครบเทอม หรือทำงานไม่ครบวันเกษียณอายุฯในวัย 65 ปี ทว่าเขากลับพิสูจน์ให้เห็นแล้ว ไม่เพียงจะทำงานจนครบวาระ หากยังพลิกฟื้นองค์กรที่เคยไม่เข้มแข็ง กลับมาแข็งแกร่ง จนกลายเป็นความหวังไม่เฉพาะคนในองค์กร แต่ยังทำให้ผู้ประกอบเอสเอ็มอี 5.2 หมื่นราย ได้รับโอกาสดีๆ อย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน
“ส่วนหนึ่งเพราะผมได้รับความร่วมมือจากผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกระดับเป็นอย่างดี จนกล้าพูดได้ว่า SME D Bank ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน จนสามารถปรับปรุงการทำงาน นับแต่ปี’58 ถึง ม.ค.62 กระทั่ง สามารถอำนวยสินเชื่อเบิกจ่ายให้ผู้ประกอบได้กว่า 5.2 หมื่นราย วงเงินกว่า 1.44 แสนล้านบาท รักษาการจ้างงานได้กว่า 5.2 แสนคน สร้างผู้ประกอบการใหม่มากกว่า 1,000 ราย ก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 7.2 แสนล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2.5 แสนล้านบาท และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากสินเชื่อใหม่นับถึงสิ้นเดือน ธ.ค.61 เพียง 3.6% เท่านั้น” นายมงคลระบุ และว่า..
ในส่วนของสินเชื่อใหม่ที่ปล่อยในปี’61 มีมากถึง 17,666 ราย วงเงิน 36,714 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม วงเงินสินเชื่อข้างต้น ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้านี้ แต่ในปี’62 ธนาคารฯ ตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อ 57,200 ล้านบาท ซึ่งวงเงินสินเชื่อกว่า 20,000 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ เป็นเพราะการทำงานเชิงรุกผ่าน “รถม้าเติมทุน” ที่จะเข้าไปถึงแหล่งชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยปัจจุบันมี “รถม้าเติมทุน” กว่า 600 คัน และจะเพิ่มให้ได้ถึง 1,000 คันภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบรายรายเล็ก (จุลเอสเอ็มอี) หรือ “คนตัวเล็ก” ได้รับโอกาสในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ครอบคลุมพื้นที่ 7,255 ตำบลทั่วประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารฯจะทำงานภายใต้รหัส 8-8-7 (8 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม ตลอด 7 วัน) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับบริการสะดวกสบายที่สุด และมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากขึ้น
ในส่วนของ NPL นั้น ถือว่ามีอัตราการเกิดขึ้นใหม่ในสัดส่วนที่น้อยมาก โดยปัจจุบันมีเพียง 14,000 ล้านบาท ซึ่งในไตมาสแรกนี้ จะตัดขายออกไปก่อน 5,000 ล้านบาท และ ในช่วงเวลาที่เหลือจะทยอยตัดขายอีก 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สิ้นปีนี้ ธนาคารฯจะเหลือ NPL เพียง 6,000 ล้าน ซึ่งจากแนวทางการบริหารของธนาคารฯที่วางรากฐานอย่างชัดเจนนั้น เชื่อว่า NPL จะหมดไปกับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิพล โดยมั่นใจว่าในปี 2563 นั้น ยอดสะสมของ NPL จะเหลือน้อยที่สุดจนอาจไม่มีเหลืออยู่เลย
นายมงคลกล่าวอีกว่า จากโครงสร้างเศรษฐกิจปัจจุบันได้เข้าสู่ยุคดิจิทัล หลายธุรกิจ หลายอาชีพ ได้รับผลกระทบจากภาวะ Technology Disruption จึงจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองในทุกมิติ เพื่อให้อยู่รอดในยุคปัจจุบัน ดังนั้น ธนาคารฯจึงกำหนดบทบาทที่จะดูแลและสนับสนุน รวมถึงหาทางเพิ่มความแข็งแกร่งให้ “คนตัวเล็ก” ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้ค้า-แผงค้าในตลาด กลุ่มรถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ (FoodTruck) โชวห่วย รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ฯลฯ เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้อยู่รอดปลอดภัย สามารถขยายตลาด และประสบความสำเร็จ ผ่านแนวทางการสนับสนุนให้เกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืน คือ ต้องครบทั้ง องค์ความรู้ เงินทุน (เงินกู้) และคุณภาพชีวิตที่ดี
ขณะเดียวกัน SME D Bank ก็ต้องยกระดับการทำงานไปสู่ “ดิจิทัลแบงก์กิ้ง” อย่างสมบูรณ์แบบ นำเทคโนโลยีทันสมัยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงบริการของธนาคารฯได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ดังนั้น จึงกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานที่เรียกว่า “3 เติม” ประกอบด้วย 1.เติมทักษะให้ความรู้เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ 2.เติมทุน ด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และ 3.เติมคุณภาพชีวิต พาเข้าถึงสิทธิ์ประโยชน์และสวัสดิการภาครัฐ สร้างความมั่นคงในอาชีพ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ผ่านกระบวนการ “3D” ได้แก่ 1.D-Development หรือการช่วยพัฒนาธุรกิจด้วยความรู้คู่เงินทุน 2.D-Digital หรือบริการทันสมัยรวดเร็วเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม SME D Bank ยื่นขอสินเชื่อ และหาความรู้ ผ่านออนไลน์ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ 24×7 (24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน) และ 3.D-Delivery หรือการให้บริการถึงถิ่นทั่วไทย ผ่านหน่วยบริการเคลื่อนที่ “รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEs ไทยฉับไวไปถึงถิ่น.