เปิดปัจจัยหนุน ‘จีดีพีไทย’ ปี 65 โต 3.5 – 4.5%
“สภาพัฒน์” ดันทุกเครื่องยนต์ฟื้นเศรษฐกิจ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลาประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนักหน่วง ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยหดตัวลงไปอย่างมากในปี 2563 โดยติดลบไปถึง 6.2% และแม้ในปี 2564 จีดีพีจะขยายตัวได้ 1.6% ดีกว่าที่คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่เกิน 1.2 % ตามการแถลงจีดีพีไทยของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์”
เศรษฐกิจไทยยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในจุดเดิมก่อนที่จะมีการระบาดของโควิด-19 โดยข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าจะต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 12 – 15 เดือน หรือประมาณ 1 ปีครึ่งกว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่สภาวะปกติ ส่วนภาคการท่องเที่ยวต้องใช้เวลาอีกถึง 20 เดือนถึงจะฟื้นตัวกลับไปมีนักท่องเที่ยวได้ถึงประมาณ 30 ล้านคน จากที่เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยถึง 40 ล้านคนในช่วงก่อนจะมีสถานการณ์โควิด -19 ซึ่งฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมแล้วว่าการที่ประเทศพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวสูงถึง 17% ของจีดีพีทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2565 ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่รัฐบาล รวมทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำให้เศรษฐกิจในปีนี้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่หน่วยงานทางเศรษฐกิจต่างๆคาดการณ์ไว้ เพื่อเป็นการรักษาโมเมนตั้มของการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาจากปีก่อนให้ขยายตัวต่อได้ โดยสภาพัฒน์ได้แถลงข่าวแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2565 ว่าจีดีพีจะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.5 – 4.5% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 4% ซึ่งเท่ากับที่เคยประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 ไว้เมื่อเดือน พ.ย.2564 ที่ผ่านมา
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้จะไม่ได้พึ่งพาเครื่องยนต์ใดเครื่องยนต์หนึ่งเป็นหลักหลังจากที่ในปี 2564 ภาคการส่งออก และการใช้จ่ายภาครัฐมีส่วนสำคัญให้จีดีพีขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้
โดยในปี 2565 ต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากหลายๆเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ได้แก่
1.การส่งออกสินค้าและบริการ ที่จะเติบโตต่อเนื่องได้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยสภาพัฒน์คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ประมาณ 4.9% โดยการส่งออกสินค้าด้านปริมาณจะขยายตัวได้ 3.9% โดยปรับลดสมมุติฐานลงจากเดิมเล็กน้อยตามปริมาณการค้าโลกที่ลดลง ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกปรับเพิ่มขึ้น 0.5 – 1.5% ตามทิศทางการปรับขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก
ในส่วนของการส่งออกบริการคาดว่าจะได้ประโยชน์จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าว่าในปีนี้ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 5.5 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศได้ประมาณ 4.7 แสนล้านบาท โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้าประเทศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีนักท่องเที่ยวแค่ประมาณ 4 แสนคนเพิ่มมาเป็น 5.5 ล้านคนในปีนี้มาจากปัจจัยสนับสนุนเรื่องการเปิดประเทศให้ใช้ระบบ Test and Go รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการห้ามนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศของประเทศอื่นๆโดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น
2.การขับเคลื่อนการลงทุน โดยในปี 2565 สภาพัฒน์คาดว่าการลงทุนรวมของประเทศจะอยู่ที่ 4% แบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชน 3.8% เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีการลงทุน 3.2% ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าในปี 2565 จะขยายตัวได้ที่ 4.6% เพิ่มขึ้นจาก 3.8% ในปี 2564
ทั้งนี้สภาพัฒน์ได้มีการตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจเพื่อให้การลงทุนของภาครัฐทั้งหมดเป็นไปตามเป้าหมายได้แก่ การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในปี 2565 ต้องทำได้ไม่น้อยกว่า93.5% แบ่งเป็นการเบิกจ่ายงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 75% และการเบิกจ่ายงบประมาณประจำไม่น้อยกว่า 98% ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนของนรัฐวิสาหกิจในปี 2565 กำหนดไว้ที่ 3.28 แสนล้านบาทคิดเป็น 70% ของเป้าหมายการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ส่วนการเบิกจ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯทั้ง 2 ฉบับ จะต้องเร่งรัดเบิกจ่ายให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2565 ในโครงการที่มีความพร้อม และโครงการที่เหลือให้เบิกจ่ายภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 เพื่อให้มีเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจมากที่สุดภายในปี 2565
3.การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค บริโภค ภาครัฐ (Public Consumption) และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาคเอกชน (Private Consumption) โดยในส่วนของการใช้จ่ายของภาครัฐคาดว่าในปี 2565 จะลดลงประมาณ 0.2% เทียบกับที่เคยขยายตัวได้ 3.2% ในปี 2564 เนื่องจากในปีที่ผ่านมาการใช้จ่ายภาครัฐสูงเกินกว่าปกติเนื่องจากมีการรวมเอาวงเงินการรักษาพยาบาลประชาชนจากโรคโควิด -19 มารวมในส่วนนี้เป็นวงเงินประมาณ 2.27 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1.7% ของจีดีพี โดยในปีนี้แนวโน้มการใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลโควิดจากภาครัฐจะลดลงตามแนวโน้มการลงลงของผู้ป่วยหนักที่ป่วยโควิด-19 เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนมีอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรงโดยเฉพาะกับผู้ที่รับวัคซีนแล้วทำให้ความจำเป็นในการรักษาในโรงพยาบาลที่ใช้วงเงินสูงลดลง
สำหรับการบริโภคของภาคเอกชนในปี 2565 สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าขยายตัวได้ 4.5% เพิ่มขึ้นจากปี 2564ที่ผ่านมาซึ่งขยายตัวได้เพียง 0.3% โดยการบริโภค และใช้จ่ายของประชาชนที่ฟื้นตัวขึ้นในปีนี้มาจากการลดลงของความรุนแรงของอาการโควิด-19 ในสายพันธุ์โอมิครอนทำให้คนกล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยคล้ายกับภาวะปกติ รวมทั้งประชาชนสามารถปรับตัวกับมาตรการเฝ้าระวังทางสังคม เช่น การตรวจ ATK ก่อนเข้างานสัมมนา นิทรรศการ หรือทำงานที่สำนักงานที่ต้องทำเป็นประจำ ซึ่งเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินต่อไปได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้นกลุ่มที่กลับมาทำงานในระบบมีรายได้เพิ่มขึ้นจากช่วงโควิด-19 ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น
นายดนุชากล่าวด้วยว่าแม้แนวโน้มเศรษฐกิจของไทยในปี 2565 จะมีทิศทางการฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่ก็มีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างน้อย 3 ข้อได้แก่
1.การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19 โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับ 3.5 – 4.5% มาจากสมมุติฐานที่สำคัญว่า การติดเชื้อโควิดต้องไม่เกินความสามารถของระบบสาธารณสุขไทยจะรับได้ โดยเฉพาะต้องมีผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตที่มากจนเกินไป เพื่อให้สามารถผ่อนคลายมาตรการการป้องกันโควิด -19 มากขึ้นและเปิดให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆสามารถดำเนินการได้มากขึ้นตามลำดับ โดยการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องทำควบคู่ไปกับการพระจายวัคซีนเข็มบูตเตอร์เพื่อเพิ่มความคุ้มกัน เพื่อลดอาการข้างเคียงและผลกระทบที่รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากโควิด-19 ด้วย
นอกจากนี้ในเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังต้องเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โดยหากมีการกลายพันธุ์ของเชื้อที่มีความรุนแรงมากขึ้น จะทำให้ประเทศต่างๆรวมถึงประเทศไทยต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมการระบาด และการจำกัดการเดินทางจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด ซึ่งจะกระทบกับสมุมติฐานทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่วางไว้ได้
2.อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับราคาอาหารสดบางรายการเช่นเนื้อหมูปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันเงินเฟ้อของไทยให้ปรับเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 17 ก.พ.ที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 85.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยในปีนี้มีปัจจัยที่สนับสนุนให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกทรงตัวในระดับสูง หลายข้อ เช่น ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ความไม่สงบในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น แต่โอเปกยังคงกำลังการผลิตไว้ที่ 4 แสนบาร์เรลต่อวันเท่านั้น เป็นต้น โดยสภาพัฒน์ได้คาดการณ์ระดับน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปีนี้จะอยู่ที่ 72 – 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
และ 3.ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเนื่องจากปริมาณหนี้ครัวเรือนที่สูงของไทย ทำให้เป็นข้อจำกัดของการใช้จ่าย อุปโภค บริโภค โดยปัจจุบัน ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 3/2564 อยู่ที่ระดับ 14.35 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของจีดีพี ซึ่งระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง และมีความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวอยู่พอสมควร
โดยในปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สินประชาชน และแก้ปัญหาให้กลุ่มอาชีพที่หนี้สูง เช่น ครู และ ตำรวจ โดยในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องคำนึงถึงการแก้ไขอย่างเป็นระบบ โดยภาครัฐและสถาบันการเงินยังคงต้องมีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขด้านรายได้ และสภาพปัญหาของลูกหนี้แต่ละราย หรือแต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ ควบคู่ไปกับมาตรการจูงใจในการรวมหนี้ และบรรเทาภาระหนี้สำคัญ ได้แก่ หนี้ด้านการศึกษา การเช่าซื้อ และหนี้สินที่เกิดจากการบริโภค เป็นต้น