หลังเลือกตั้ง ศก.ไทยโต “ประยุทธ์” กลับมาแน่
สมคิด มั่นใจ เศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้ง เติบโตแบบก้าวกระโดด พล.อ. ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ สานต่อยุทธศาสตร์ชาติ และ โครงการ อีอีซี
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปีแห่งการลงทุน: เปลี่ยน ความท้าทายให้เป็นโอกาส” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ว่า ความท้าทายที่เปลี่ยนเป็นโอกาสของประเทศไทยมี 4 ประการ ประการแรกคือ เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยเห็นได้จากดัชนีทางเศรษฐกิจในปี 2561 ที่จีดีพีเติบโตที่ร้อยละ 4.1 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 1 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลกว่าร้อยละ 7 ของจีดีพี เงินสำรองระหว่างประเทศสะสมกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่ำกว่าร้อยละ 45
ในขณะที่ภาคการเงิน ประเทศไทยมีความแข็งแกร่ง และภาวะตลาดทุนโดดเด่นกว่าทุกตลาดในอาเซียนแม้ว่าประเทศไทยจะพึ่งพาการส่งออกต่อจีดีพีสูงกว่าร้อยละ 70 แต่จากการเร่งขับเคลื่อนโครงการลงทุนทั้งภาครัฐและการใช้จ่ายของภาคประชาชน ประกอบกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคนเมื่อปี 2561 สร้างรายได้เข้าประเทศเกือบร้อยละ 20 ของจีดีพี จึงเป็นแรงสนับสนุนให้เกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แล้ว จากการวิเคราะห์ของสถาบันภายนอก เช่น WorldBank และสำนักข่าว Bloomberg ต่างก็มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา มีการเติบโตที่ดีและมีความโดดเด่นในภูมิภาค
ด้านโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่ไทยมุ่งหวังจะให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่และทันสมัย รองรับภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ก็ได้รับการยอมรับและเป็นที่สนใจจากนักลงทุนทั่วโลก โดยในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 100 และมีนักลงทุนจากทั้งประเทศญี่ปุ่นโดยการน าของนายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (เมติ) และนักลงทุนจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยการน าของนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาเยือนไทยและพื้นที่อีอีซีด้วยตนเอง
นอกจากนี้แล้ว จากการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน – ญี่ปุ่น ณ นครปักกิ่ง เมื่อเดือนตุลาคม2561 ที่ผ่านมา ได้มีคำแถลงทั้งจากผู้นำญี่ปุ่นและผู้นำจีน ว่าจะมีการร่วมมือเพื่อลงทุนร่วมกันในประเทศที่สาเพื่อให้เกิดการพัฒนาในประเทศเหล่านั้น ประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งอีอีซี ได้รับการระบุให้เป็นเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน 3 ด้านอีอีซีเองนั้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงการประมูลและการเจรจาในรายละเอียด ทั้งโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 โครงการศูนย์ซ่อมการบินหรือ MRO โครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบัง โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล และสำหรับโครงการอื่นๆ นอกพื้นที่อีอีซี ต่างก็มีความคืบหน้าโดยลำดับ เช่น โครงการรถไฟฟ้าในเมืองสายต่างๆ โครงการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านทั่วประเทศและการเตรียมเข้าสู่ 5 จีในปีหน้า
ด้านการส่งเสริมการลงทุน บีโอไอประกาศให้ปีนี้เป็นปีแห่งการลงทุน ด้วยมาตรการพิเศษต่างๆซึ่งครอบคลุมทั้งมาตรการสำหรับภาคอุตสาหกรรม มาตรการสำหรับสังคมและสิ่งแวดล้อม และมาตรการสำหรับท้องถิ่น สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นแรงขับเคลื่อน จากความเข้มแข็งภายในที่ทำให้ประเทศไทยพร้อมสำหรับการลงทุน
ประการที่สอง การเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่าง GBA กับ CLMVT และอาเซียน จากการมาเยือนของนางแครี่ หล่ำผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง พร้อมคณะเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง หรือ Hong Kong Economic and Trade Office (HKETO) ที่กรุงเทพฯ แสดงให้เห็นว่าฮ่องกงเห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับทางการของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศพิมพ์เขียวแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ Greater Bay Area(GBA) ระหว่าง 4 จังหวัดใหญ่ คือ ฮ่องกง มาเก๊า กวางตุ้ง และเซินเจิ้น เพื่อยกระดับความสามารถในแนวลึกด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีและสตาร์ทอัพ โดยฮ่องกงนับเป็นตัวจักรสำคัญในแผนงานนี้ ดังนั้นไทยจะใช้โอกาสนี้เพื่อเชื่อมโยงระหว่างอนุภูมิภาคทั้งสองนี้โดยฮ่องกงในฐานะประตูแห่ง GBA และไทยเป็นประตูสู่ CLMVTและอาเซียน
ประการที่สาม การเป็นประธานการประชุมอาเซียนของไทยในปี 2562 ท่ามกลางปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเคลื่อนตัวมาสู่เอเชีย ผนวกกับความร่วมมือต่างๆ ภายในภูมิภาคเอเชียที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น RCEP, Belt and Road, CPTPP, Indo Pacific เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแนวความคิดใด ทั้ง CLMVTอาเซียน และเอเชีย ต่างอยู่ในบริบทความร่วมมือแทบทั้งสิ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ จึงเป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพบนเวทีโลก
ประการสุดท้าย เดือนพฤษภาคมที่กำลังจะมาถึงนี้คือเดือนที่มีความสำคัญยิ่งต่อคนไทยและประเทศไทย โดยจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวงรัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเอกภาพและความมั่นคงของแผ่นดิน ที่นักลงทุนต่างประเทศต่างตระหนักดี และช่วยสร้างความมั่นใจในศักยภาพและอนาคตของประเทศไทย
ดังนั้นนักลงทุนควรจะมองหาโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้ไทยเป็นฐานหรือประตูแห่งโอกาสในการเข้าไปสู่กลุ่มประเทศ CLMV และขยายไปสู่เอเชียและภูมิภาคโดยรอบต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้ บีโอไอได้ประกาศให้เป็น “ปีแห่งการลงทุน” โดยมอบสิทธิประโยชน์พิเศษให้แก่นักลงทุน
“ช่วง 4 -5 ปีที่ผ่านมาวิกฤติการเมืองไทยเป็นโอกาสที่หายากมากในการปฏิรูปประเทศขณะนั้นไทยถูกมองว่าเป็นคนป่วยแห่งเอเชียแต่ปัจจุบันได้ถูกพลิกโฉมไทยมีตำแหน่งเป็นพลวัตและมีบทบาทสูงเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและจะก้าวต่อไปโดยไทยจะมีการเลือกตั้งแน่นอนและเชื่อว่าคนไทยไม่ได้โง่เพราะที่ผ่านมานโยบายต่างๆ ไม่ได้ขายฝันแต่เกิดเป็นรูปธรรมจึงมั่นใจว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะกลับมาอีกแน่นอนเพื่อมาสานต่อนโยบายต่างๆที่วางไว้ร่วมกับทุกท่านเพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้งจะเติบโตแบบก้าวกระโดดเพราะนักลงทุนรออยู่แล้ว” นายสมคิด กล่าว่า