ศูนย์วิจัยฯ ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตร มี.ค.62
ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือน มี.ค.นี้ ทั้ง ข้าวเปลือกหอมมะลิ น้ำตาลทรายดิบ ยางพาราแผ่นดิบ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น ส่วน ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กุ้งขาวแวนนาไม มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง
นายสมเกียรติ กิมาวหา ผช.ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวถึงสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งจัดทำโดย ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. โดยคาดการณ์ว่า ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.18-0.59 อยู่ที่ราคา 15,574-15,638 บาท/ตัน เนื่องจากความต้องการข้าวหอมมะลิยังมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการเสนอราคารับซื้อในราคาที่สูง
ส่วนน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาเฉลี่ยในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.20-1.00 อยู่ที่ราคา 13.39-13.50 เซนต์/ปอนด์ (9.23-9.31 บาท/กก.) เพราะการปรับขึ้นของราคาน้ำมันช่วยหนุนราคาน้ำตาลสัญญาล่วงหน้า ทำให้บราซิลนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลมากกว่าน้ำตาล ประกอบกับราคาขายน้ำตาลขั้นต่ำภายในประเทศของอินเดียที่สูงขึ้นอาจกระตุ้นให้ผู้ผลิตน้ำตาลของอินเดียเพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาลเพื่อขายภายในประเทศมากขึ้น ทำให้การส่งออกน้ำตาลทรายลดลง
ขณะที่ยางพาราแผ่นดิบ ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.52-4.56 อยู่ที่ราคา 42.64-43.12 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลงเพราะเข้าสู่ฤดูยางผลัดใบ เกษตรกรชาวสวนยางหยุดกรีดยางในช่วงนี้เพื่อเป็นการพักต้นยางพาราให้สามารถสร้างการเติบโตในระยะถัดไป
ด้านมันสำปะหลัง ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ร้อยละ 0.46-3.70 อยู่ที่ราคา 2.17-2.25 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวมีคุณภาพดีจากเปอร์เซ็นแป้งสูง ส่งผลให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาเพิ่มขึ้น
สำหรับปาล์มน้ำมัน ราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.39–2.71 อยู่ที่ราคา 2.59-2.65 บาท/กก. เนื่องจากแผนนโยบายภาครัฐในการช่วยพยุงราคาปาล์มน้ำมัน โดยให้โรงสกัดรับซื้อปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรในราคาสูงเพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำมันปาล์มสำหรับใช้ผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า และแนวโน้มผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดลดลงจากฤดูกาลมรสุม
หันมาดูตลาดของสุกร ที่คาดว่าราคาจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.46–9.63 อยู่ที่ราคา 67.50 – 70.00 บาท/กก. เนื่องจากความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรยังคงมีผลต่อการผลิตและราคาสุกร
ด้านสินค้าเกษตรที่จะมีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาจะลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.58-1.24 อยู่ที่ราคา 7,551-7,602 บาท/ตัน เพราะค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและผลผลิตข้าวนาปรังของประเทศไทย ประเทศเวียดนาม และประเทศกัมพูชากำลังออกสู่ตลาด
ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาจะลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.64-2.35 อยู่ที่ราคา 9,887-10,060 บาท/ตัน เนื่องจากผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังกำลังทยอยออกสู่ตลาด ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.50-1.50 อยู่ที่ราคา 8.08-8.16 บาท/กก. เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดหลังนาทยอยออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ทรงตัว ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ปรับลดลง
สำหรับกุ้งขาวแวนนาไม ราคาจะลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.75 – 4.68 อยู่ที่ราคา 163 – 168 บาท/กก. เนื่องจากแนวโน้มค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวลง ปริมาณผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศอยู่ ณ ระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน.