สตรีซาอุฯทำธุรกิจได้
ผู้หญิงในซาอุดิอาระเบียในปัจจุบันสามารถจะเปิดธุรกิจของตัวเองได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากสามี หรือญาติที่เป็นผู้ชายในครอบครัวอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากทางการมุ่งหวังผลักดันให้ธุรกิจภาคเอกชนเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
การประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายจากรัฐบาลซาอุดิอาระเบียเมื่อวันที่ 15 ก.พ. เป็นการก้าวย่างครั้งสำคัญที่จะทิ้งห่างจากระบบคุ้มครองดูแลที่เข้มงวดเคร่งครัดซึ่งปกครองประเทศมานานหลายทศวรรษ
“ ผู้หญิงปัจจุบันสามารถประกอบธุรกิจเป็นของตัวเองและได้ประโยชน์จากบริการอีเซอร์วิสจากภาครัฐ โดยไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้คุ้มครอง ” กระทรวงพาณิชย์และการลงทุนโพสต์แถลงบนเว็บไซต์
ภายใต้ระบบการดูแลของซาอุดิอาระเบีย ผู้หญิงจำเป็นต้องแสดงหลักฐานการได้รับอนุญาตจาก ‘ผู้คุ้มครอง’ ซึ่งโดยปกติแล้วคือ สามี พ่อ หรือพี่ชาย เพื่อติดต่อด้านเอกสารจากทางหน่วยงานภาครัฐ หรือในการเดินทาง หรือเข้ารับการศึกษา
จากที่เคยพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบมาเป็นเวลานาน ซาอุดิอาระเบียกำลังพยายามขับเคลื่อนให้ภาคเอกชนมีการขยายตัวเติบโตขึ้น รวมทั้งการขยายจำนวนการจ้างงานผู้หญิงภายใต้แผนการปฏิรูปสำหรับยุคใหม่หลังการจบยุคพึ่งพาน้ำมัน
ขณะที่ผู้หญิงยังคงต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเนื่องจากเป็นประเทศที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมอย่างสุดขั้วซึ่งฝังรากลึกมานาน สำนักงานอัยการของซาอุฯได้แถลงในเดือนก.พ.นี้ว่า จะเริ่มรับสมัครพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิงเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ ซาอุฯ ยังเปิดรับผู้หญิงในตำแหน่งงาน 140 อัตราที่ท่าอากาศยานและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นการเปิดรับสมัครครั้งแรกและเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เนื่องจากสามารถดึงดูดให้มีผู้หญิงมาสมัครงานมากถึง 107,000 คน
มกุฎราชกุมารโมฮัมเมด บิน ซัลมันแห่งซาอุฯ รัชทายาทผู้ทรงอิทธิพลในราชวงศ์และจะเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์กษัตริย์ซาอุฯ ในอนาคต ทรงเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มบทบาทให้กับผู้หญิงให้เข้ามาอยู่ในตลาดแรงงานในช่วงไม่กี่เดือนมานี้
ในเดือนก.ย.ปี 2560 พระบิดาของพระองค์คือ กษัตริย์ซัลมันแห่งซาอุฯ ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผู้หญิงสามารถขับรถยนต์ได้ หลังจากถูกสั่งห้ามมายาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งกฎหมายใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิ.ย.ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ มกุฎราชกุมารพระชนมายุ 32 ชันษาพระองค์นี้ทรงกำหนดแนวนโยบายให้ซาอุฯเป็นประเทศมุสลิมสายกลางและมีวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว โดยทรงยกเลิกกฎระเบียบที่เข้มงวดและแนวคิดอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง เพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของซาอุฯให้เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติมากยิ่งขึ้น และทำให้คนรุ่นใหม่ของประเทศมีทัศนคติที่ร่วมสมัย
โดยพระองค์ทรงเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าทรงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโครงการปฏิรูปประเทศที่ชื่อ ‘ Vision 2030 ’ ซึ่งมุ่งหวังที่จะผลักดันให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นกำลังแรงงานมากขึ้น จากเดิมประมาณ 22% ให้เป็นเกือบ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด.