‘กสิกรไทย’ ชี้สินค้าราคาพุ่งสวนทางรายได้คนไทยลดลง
ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสวนทางกับรายได้ กดดันดัชนี KR-ECI เดือนม.ค.65 ให้ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
แม้ว่าการระบาดของโอมิครอนหลังช่วงปีใหม่จะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการยกระดับมาตรการคุมเข้มการระบาด ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงมีจำกัด แต่อย่างไรก็ตามระดับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งอาหารสด เช่น เนื้อหมู รวมถึงราคาพลังงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องได้เข้ามากดดันกำลังซื้อของภาคครัวเรือนส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบันลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 30.9 ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 33.2 บ่งชี้ว่าครัวเรือนยังมีมุมมองว่าค่าครองชีพจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำผลสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองด้านระยะเวลาของระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นกับวิธีรับมือของครัวเรือน ผลสำรวจบ่งชี้ว่าหากครัวเรือนมีมุมมองว่าระยะเวลาที่ระดับราคาสินค้าจะอยู่ในระดับสูงยิ่งนานจะยิ่งส่งผลให้ครัวเรือนลดค่าใช้จ่ายรายการที่ไม่จำเป็นออกไปเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากมีมุมมองว่าระดับราคาสินค้าที่สูงจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 1 เดือน ครัวเรือนจะนำเงินออมที่มีออกมาใช้ทดแทนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ว่าสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนทั้งในปัจจุบันที่สะท้อนผ่านการนำเงินออมออกมาใช้และในระยะข้างหน้าที่จะมีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง
ในระยะข้างหน้าระดับราคาสินค้ามีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องหรืออย่างน้อยจนถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี สาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มขึ้นราคาพลังงานที่เป็นทั้งต้นทุนทางอ้อมของราคาสินค้าผ่านต้นทุนค่าขนส่ง/การผลิตและทางตรงที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนผ่านค่าโดยสารและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ขณะที่ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จะยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจากภาครัฐยังมีความจำเป็นต่อเนื่องในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีความเปราะบางสูง
สถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องกดดันดัชนี KR-ECI ให้ลดลงสู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์
ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนลดต่ำลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ 30.9 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกือบในทุกองค์ประกอบของดัชนี โดยเฉพาะมุมมองเกี่ยวกับ“ระดับราคาสินค้า” ในหมวดของอาหารและเครื่องดื่มและราคาพลังงานที่ระดับดัชนีปรับลดลงจากเดือนก่อนถึง 39.9% และ 26.3% (ดัชนีลดลงหมายถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้น) สอดคล้องกับระดับเงินเฟ้อในเดือนม.ค. 65 ที่พุ่งสูงขึ้นอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 3.23% โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นทั่วโลก และราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ครัวเรือนมีความกังวลต่อมุมมองด้านรายได้และการมีงานทำปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยองค์ประกอบของดัชนีในส่วนของรายได้และการจ้างงานปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน (-4.0% MoM) ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลภาวะการทำงานของประชากรในไตรมาส 4/2564 พบว่า แม้จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นแต่แรงงานบางส่วนยังมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 45.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่าภาวะปกติบ่งชึ้ถึงรายได้ของแรงงานที่ลดลงซึ่งจะกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนต่อเนื่องไป ด้านดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเช่นกันอยู่ที่ 33.2 จาก 36.0 ในเดือนธ.ค.64 สะท้อนว่าในระยะข้างหน้าครัวเรือนยังคงมีความกังวลต่อเนื่องโดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงาน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องมุมมองต่อระยะเวลาที่ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นกับวิธีการรับมือของภาคครัวเรือน ผลสำรวจระบุว่า หากครัวเรือนมีมุมมองว่าระดับราคาสินค้าจะอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 1 เดือน วิธีการรับมือที่ถูกนำมาใช้จะเป็นการนำเงินออมออกมาใช้เพื่อชดเชยระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้น แต่ถ้ามีมุมมองว่าระดับราคาสินค้าจะปรับสูงขึ้นเป็นระยะเวลานานขึ้น ครัวเรือนจะลดค่าใช้จ่ายรายการที่ไม่จำเป็นออก ซึ่งในภาพรวมครัวเรือน 41.4% มีมุมมองว่าระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นจะยาวนานมากกว่า 5 เดือนขึ้นไปสะท้อนว่าครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น การจับจ่ายใช้จ่ายสอยจะยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้เต็มที่ ขณะที่กำลังซื้อของภาคครัวเรือนจะยังมีแนวโน้มเปราะบางต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
สถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นจึงเหมือนเข้ามาซ้ำเติมกำลังซื้อของภาคครัวเรือนที่เดิมมีความเปราะบางอยู่แล้ว แม้ว่าล่าสุดภาครัฐจะมีมาตรการบางส่วนออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น การขยายเวลาตรึงราคาแก๊สหุงต้ม (LPG) จากเดิมที่จะสิ้นสุด 15 ม.ค.65 รวมถึงเลื่อนเวลาการใช้มาตรการคนละครึ่งเฟส 4 เข้ามาเร็วขึ้นในเดือนก.พ. 65 แต่มาตรการต่าง ๆ สามารถเข้ามาประคับประคองได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากราคาสินค้าปรับขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
ในระยะข้างหน้าระดับราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงจะยังเป็นปัจจัยกดดันภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนต่อเนื่องไปอีกสักระยะ หรือจนกว่าราคาพลังงานในตลาดโลกจะเริ่มปรับเข้าสู่จุดสมดุล (ปัจจุบันภาวะอุปสงค์มากขึ้นจากการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งเพิ่มขึ้นเร็วกว่าฝั่งอุปทาน รวมถึงมีปัญหาเรื่องความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์) ซึ่งคาดว่าอย่างน้อยจนกว่าจะถึงช่วงไตรมาสแรกของปี อย่างไรก็ดี ในวันที่ 1 ก.พ. 65 ที่ผ่านมาได้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวในระบบ Test & GO อีกครั้ง รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ทยอยกลับมาฟื้นตัวซึ่งจะช่วยให้ฝั่งรายได้ของครัวเรือนกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นได้บางส่วน
ภาครัฐควรมีมาตรการมาตรการบรรเทาค่าครองชีพอย่างตรงจุด เช่น ตั้งแต่ช่วงต้นปี 65 มีการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าขึ้น (ค่า FT) ในช่วงแรกที่ปรับเพิ่มขึ้นแต่รายได้ครัวเรือนยังไม่กลับมา อาจต้องมีมาตรการเยียวยาออกมาควบคู่ด้วย ตัวอย่างในสหราชอาณาจักรที่กำลังจะมีการปรับขึ้นค่าไฟครั้งใหญ่พร้อมเตรียมมาตรการเพื่อเยียวยาผลกระทบ นอกจากการตรึงราคาสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของครัวเรือนจึงมีความจำเป็นอย่างมากในช่วงที่รายได้และการจ้างงานอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว
โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (ม.ค.65) และ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูงยังกดดันภาคครัวเรือน โดยเฉพาะราคาอาหารและพลังงานที่เป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันของครัวเรือน ภาครัฐควรเร่งออกนโยบายเพื่อมาบรรเทาผลกระทบควบคู่ไปกับการส่งเสริมการจ้างงานเพื่อเพิ่มระดับรายได้แก่ครัวเรือน