ไทยพาณิชย์คาดหนี้ครัวเรือนไตรมาส3ทรงตัว 89.3%
สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ในไตรมาส 3/2021 ทรงตัวในระดับสูงที่ 89.3% จับตา 2 ความเสี่ยงสำคัญต่อหนี้ครัวเรือนในระยะต่อไป คือ ผลกระทบของ Omicron และปัญหาหนี้นอกระบบที่กำลังเร่งตัว
ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ปี 2021 อยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 4.2%YOY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ระดับ 89.3% ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยยังถือว่าอยู่ในระดับสูง การขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนจากระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ชะลอลงในทุกหมวดสินเชื่อสำคัญ อย่างไรก็ดี สินเชื่อส่วนบุคคลยังคงขยายตัวในระดับสูง ตามความต้องการสภาพคล่องเพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงที่ยังมีมากปัญหาหนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเร่งตัวสูง จากกลุ่มครัวเรือนที่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อนำมาใช้จ่ายแต่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความเปราะบางอยู่แล้วสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 นี้ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Omicron ที่จะกระทบรายได้ครัวเรือนและทำให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อทดแทนสภาพคล่องกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้ง ส่งผลทำให้กระบวนการซ่อมแซมงบดุลของภาคครัวเรือนมีอุปสรรค และสถานะทางการเงินภาคครัวเรือนจะกลับมาฟื้นตัวได้ช้าลง ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงแนวโน้มการใช้จ่ายและคุณภาพสินเชื่อของภาคครัวเรือน |
ด้วยเหตุนี้มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การเยียวยาด้านรายได้ การสนับสนุนการจ้างงาน และการปรับทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มความสามารถ
ในการหารายได้ รวมถึงการสนับสนุนด้านสภาพคล่องเพื่อป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบจะยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับภาคครัวเรือนไทยที่ยังมีความเปราะบางสูง
หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ปี 2021 เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท หรือขยายตัวที่ 4.2%YOYเป็นการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในช่วงเดียวกัน อันเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรงและมีมาตรการล็อกดาวน์ โดยสินเชื่อจากกลุ่มผู้ให้กู้ยืมหลัก ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์, สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน (SFI), สหกรณ์ออมทรัพย์ และบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อให้ครัวเรือนรวมกันถึง 96.4% ล้วนมีการเติบโตที่ชะลอลงทั้งสิ้น
การเติบโตที่ยังอยู่ในระดับสูงของสินเชื่อส่วนบุคคลในระบบธนาคารพาณิชย์ และสินเชื่อจากบริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล ยังคงสะท้อนถึงแนวโน้มการกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายทดแทนสภาพคล่องที่หายไปตามรายได้ที่ลดลงของภาคครัวเรือนที่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตของหนี้ครัวเรือนในช่วงนี้ และเป็นเทรนด์ที่ดำเนินมาต่อเนื่องในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับข้อมูลประกอบจาก Google Trends ในส่วนของการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับ “เงินกู้” “เงินด่วน” ซึ่งจากผลการค้นหาที่ปรากฏ สามารถเป็นได้ทั้งหนี้ในและนอกระบบ โดยล่าสุดแม้ดัชนีจะมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง แต่ก็ยังสูงกว่าระดับก่อนโควิดถึงราว 30% (รูปที่ 1) สะท้อนถึงความต้องการที่ยังสูงของผู้บริโภคต่อสินเชื่อเพื่อนำมาเป็นสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในช่วงที่รายได้ซบเซาและฟื้นตัวช้า
รูปที่ 1 : การค้นหา “เงินกู้” “เงินด่วน” ของคนไทยยังคงอยู่ในระดับสูงเทียบกับช่วงก่อน COVID-19
หมายเหตุ : มีความเป็นไปได้ว่า ดัชนีการค้นหา Google Trends อาจสะท้อนความต้องการเงินกู้-เงินด่วนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนเมื่อพบการค้นหาที่ต้องการและได้เข้าถึงผู้ให้บริการแล้วครั้งหนึ่ง ก็อาจเลือกที่จะเข้าใช้งานตรงกับบริการนั้น ๆ ได้เลย
ในครั้งถัด ๆ ไปที่ต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องทำการค้นหาบน Google อีก
มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลที่ปรับเข้มงวดขึ้นมาโดยตลอดในช่วงวิกฤต COVID-19 (รูปที่ 2 ซ้าย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่ยังมีสูงอาจไม่ได้ถูกเติมเต็มได้อย่างครอบคลุมด้วยสินเชื่อในระบบ ส่งผลทำให้ในช่วง COVID-19 ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่มีความต้องการสินเชื่อ ได้หันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ จากการสำรวจผู้บริโภคของ EIC (EIC Consumer Survey 2021) พบว่า มีถึง 26.1% ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่ทำการกู้ยืมในช่วง COVID-19 ที่มีการกู้ยืมหนี้นอกระบบ (รูปที่ 2 กลาง) แนวโน้มดังกล่าวส่งผลทำให้ปริมาณหนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังเกิดวิกฤต COVID-19 จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมภาคครัวเรือน พบว่า หนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนไทยรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 อยู่สูงถึง 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงจากช่วงก่อน COVID-19 ในปี 2019 ที่อยู่ที่ 4.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึง 78% ถือเป็นการกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งหลังจากที่หนี้นอกระบบมีแนวโน้มลดลงในปี 2019
เมื่อพิจารณาในรายละเอียดการกระจายตัวของหนี้นอกระบบภาคครัวเรือนจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปัญหากระจุกตัวอยู่ในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยเป็นส่วนใหญ่ ในภาพรวมสัดส่วนของครัวเรือนที่เป็นหนี้นอกระบบอยู่ที่ 9.2% จากจำนวนครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ของครัวเรือนกลุ่มที่เป็นหนี้นอกระบบนี้มักจะกู้ยืมหนี้นอกระบบเพียงอย่างเดียว (ตารางที่ 3) และหากแยกตามระดับรายได้แล้ว จะพบว่า สัดส่วนของการเป็นหนี้นอกระบบในกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยจะสูงกว่าครัวเรือนรายได้สูง สอดคล้องกับผลกระทบของวิกฤตครั้งนี้ที่มีความรุนแรงกับกลุ่มคนรายได้น้อย และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อมักจะมีความเข้มงวดกับกลุ่มคนเหล่านี้มากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ครัวเรือนที่พึ่งพาหนี้นอกระบบในระดับสูง มักมีภาระหนี้สูงกว่าจากอัตราดอกเบี้ยหนี้นอกระบบที่จะสูงกว่ามาก สถานการณ์ดังกล่าวนี้จึงเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้ครัวเรือนเปราะบางเหล่านี้เข้าสู่วังวนปัญหาภาระหนี้สินล้นพ้นตัว
สำหรับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยในไตรมาส 3 ปี 2021 ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 89.3% จากการที่หนี้ครัวเรือนและ GDP ขยายตัวได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยไตรมาส 3 ปี 2021 หนี้ครัวเรือนของไทยขยายตัวที่ 0.5% จากไตรมาสที่ 2 นำโดยการกู้ยืมเพื่อทดแทนสภาพคล่องที่ยังเติบโตสูงต่อเนื่อง ขณะที่ผลรวมของ GDP ที่นำมาคำนวณสัดส่วนหนี้ครัวเรือน ในช่วงดังกล่าวขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกันที่ 0.4% อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ 89.3% ในไตรมาส 3 ก็ยังถือว่าสูงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด (ณ สิ้นปี 2019 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่เพียง 79.8%) (รูปที่ 3) สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยในระดับดังกล่าวส่งผลให้ไทยยังคงเป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยจากข้อมูลของ Bank of International Settlement (BIS) ไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามาตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบัน
ผลจากการที่ภาระหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงจะเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญต่อการฟื้นตัว
ทางเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากภาระหนี้สูงจะทำให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนมีข้อจำกัด ทั้งจากงบประมาณการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่จะลดลงตามภาระการผ่อนชำระที่เพิ่มสูงขึ้น และการขอสินเชื่อใหม่ที่ยากมากขึ้นหลังภาระหนี้เดิมอยู่ในระดับสูงส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อในระบบมีความเข้มงวดมากขึ้น ผลพวงจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงดังกล่าวจะเป็นปัจจัยกดดันสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชนซึ่งถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญทางเศรษฐกิจของไทยในยามที่การใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในระยะข้างหน้า
EIC ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยอาจกลับมาสูงขึ้นได้อีก โดยเฉพาะจากปัจจัยการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ และสภาพคล่องของครัวเรือน ในช่วงเข้าสู่ปี 2022 เศรษฐกิจไทยกำลังกลับมาเผชิญความเสี่ยงจาก COVID-19 อีกครั้งหลังไวรัสสายพันธุ์ Omicron เริ่มแพร่ระบาดในประเทศมากขึ้น แม้ในเบื้องต้นจะมีข้อมูลว่าไวรัสดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบต่อร่างกายมากเท่ากับสายพันธุ์ก่อน ๆ แต่การแพร่ระบาดได้ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของทุกภาคส่วน นำไปสู่การชะลอการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงการออกมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจในหลายส่วนเช่นกัน กลไกดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อรายได้และสภาพคล่องของครัวเรือน ผลักดันให้แนวโน้มความต้องการสินเชื่อเพื่อทดแทนสภาพคล่องของครัวเรือนกลับมาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นได้อีกครั้ง EIC มองว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนมีโอกาสกลับมาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะอยู่ในช่วง 89.5%-90.5% ต่อ GDP ภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 นี้ ก่อนที่จะทยอยปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้เป็นต้นไป หลังการแพร่ระบาดของ Omicron เบาบางลงและกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว
EIC มองว่า ในระยะต่อไปที่ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มเข้าสู่ช่วงของการซ่อมแซมงบดุล (deleverage)ยังถือว่าเป็นช่วงที่มีความเปราะบางสูง ดังนั้น จึงต้องอาศัยมาตรการหลายด้านประกอบกัน เพื่อให้สถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้เนื่องจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ยังไม่หายไป อันจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งสำคัญต่อรายได้ ประกอบกับภาคครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยยังมีความท้าทาย
ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในช่วงที่ความต้องการสภาพคล่องยังมีอยู่มาก นโยบายและมาตรการต่าง ๆ ทั้งมาตรการเยียวยาด้านรายได้โดยเฉพาะสำหรับครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง การสนับสนุนการจ้างงาน การปรับ-เพิ่มทักษะแรงงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการหารายได้ของภาคครัวเรือน การปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระการผ่อนชำระสอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงและฟื้นช้า ไปจนถึงการเสริมสภาพคล่องแก่ภาคครัวเรือนกลุ่มเปราะบางเพื่อลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหา ที่ก่อตัวขึ้นมาแล้วและอาจทวีความรุนแรงขึ้นหากไม่มีความช่วยเหลือที่ตรงจุด โดย EIC มองว่ากลุ่มมาตรการเหล่านี้ยังมีความจำเป็นอยู่มาก โดยจะต้องมีระยะเวลาการช่วยเหลือที่ยาวนานเพียงพอ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า และการปรับตัวของภาคครัวเรือนทั้งการหารายได้เพิ่มเติม และการซ่อมแซมงบดุลก็จำเป็นต้องใช้เวลาเช่นกัน