แนะรัฐ 5 มาตรการแก้ปมฝุ่นพิษ PM 2.5
SCBS Wealth Research เสนอ 5 แนวทางให้รัฐบาลไทยใช้แก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เน้นมาตรการภาษีเป็นหลัก เหตุไทยเจอปัญหาความเสียหายด้านเศรษฐกิจรุนแรงเป็นอันดับ 2 รองจากยุโรป
ภัยคุกคามจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ต่อคนกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง ยังไม่มีท่าทีว่าจะผ่อนคลายลงแต่อย่างใด หลายหน่วยงานและหลากองค์กร โดยเฉพาะนักวิชาการ ภาคเอกชน ต่างนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวมากมาย หนึ่งในนั้น มีชื่อของ ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ ซึ่งได้นำเสนอผ่านบทวิเคราะห์ เรื่อง แนวทางการ “กำจัดฝุ่น” โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
นับแต่ต้นปี 2019 (2562) เป็นต้นมา พบว่าคุณภาพอากาศของของไทย โดยเฉพาะแถบกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเลวร้ายอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) ในกรุงเทพมหานครอยู่ในระดับเดียวกับหลายๆ เมืองในเอเชียและระดับโลกที่มีระดับมลพิษในอากาศสูง เช่น เมืองเฉิงตู และกว่างโจว
อย่างไรก็ตาม SCBS Wealth Research ในสังกัด บล.ไทยพาณิชย์ ได้พิจารณาผลกระทบดังกล่าวของไทยเปรียบเทียบกับประเทศและภูมิภาคที่ประสบภาวะวิกฤตคล้ายกัน ซึ่งได้แก่ จีนและประเทศในยุโรป พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศของไทยนั้น แม้มีจำนวนน้อยกว่า (ที่ประมาณ 3.8 หมื่นคน) แต่หากคิดเป็นสัดส่วนกับกับประชากรทั้งหมดก็ใกล้เคียงกับในจีนและยุโรป ขณะที่ เมื่อพิจารณาด้านความเสียหายด้านเศรษฐกิจ (ที่ประมาณ 1.6-2.7% ของ GDP) จะพบว่า ไทยมีความเสียหายด้านเศรษฐกิจรุนแรงเป็นอันดับสองรองจากยุโรป
สำหรับมาตรการของทางการในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศนั้น จากการศึกษาพบว่าทั้งทางการจีนและยุโรปต่างแสดงความตั้งใจแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างเป็นรูปธรรม โดยในกรณีของจีนตั้งเป็นเป้าหมายหลักในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปีของจีน และมีการเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ และสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนทางการของยุโรป มีความตั้งใจในการลดมลภาวะในเขตเมือง แต่ในกรณีของไทย แม้ว่าปัญหามลภาวะทางอากาศจะเกิดมาหลายปี แต่เพิ่งรับรู้ในวงกว้างปีนี้ กระนั้น ทางการไทยจึงยังไม่ได้ออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมสักเท่าใด
ทั้งนี้ SCBS Wealth Research เห็นว่า มาตรการต่างๆ ที่ทางการในต่างประเทศ (จีนและกลุ่มประเทศยุโรป) ได้ดำเนินการนั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้วิกฤตมลภาวะทางอากาศในประเทศเหล่านั้น บรรเทาลง โดยประเทศเหล่านั้นดำเนินมาตรการที่ค่อนข้างรุนแรงและเป็นรูปธรรม ดังนั้น จึงขอเสนอมาตรการเชิงนโยบายให้แก่ทางการเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางในการควบคุมและลดทอนมลภาวะทางอากาศในไทยอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
1. ปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตรถยนต์ดีเซลที่เครื่องยนต์ต่ำกว่า 3,250 cc. (อัตรา 3%-30%) ให้มีอัตราเดียวกับเครื่องยนต์สูงกว่า 3,250 cc. (50%)
2. ปรับขึ้นภาษีโรงงานที่ปล่อยก๊าซพิษ โดยเพิ่มการจัดเก็บตามปริมาณการปล่อยอนุภาค
3. ปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จาก 5.85 บาทต่อลิตรเป็น 6.50 บาทต่อลิตร (เท่ากับเบนซิน)
4. จัดตั้งกองทุนดูแลคุณภาพอากาศแห่งชาติ โดยนำรายได้จากการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และจากการปรับขึ้นภาษีโรงงานที่ปล่อยก๊าซ มาเป็นกองทุนในการปรับปรุงคุณภาพอากาศ เช่น ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นในการปลูกต้นไม้ในเขตเมือง
และ 5. เพิ่มโทษกับผู้กระทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเผาในที่โล่ง
โดย SCBS Wealth Research เห็นว่า มาตรการต่าง ๆ ที่นำเสนอนั้น ส่วนใหญ่เพื่อลดแรงจูงใจในการใช้รถยนต์ดีเซล ที่มีการปล่อยมลพิษ (โดยเฉพาะฝุ่นควันขนาดเล็ก) ในปริมาณสูง รวมถึงการจำกัดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษฝุ่นอนุภาคเล็ก (PM 2.5) เช่น การเผาในที่โล่ง การลดกิจกรรมในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อลดมลพิษทางอากาศด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวต้องทำควบคู่ไปกับการสนับสนุนการผลิตและการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง นอกจากนั้น ทางการยังควรรีบพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน อันจะเป็นการแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นควันครั้งนี้อย่างยั่งยืนต่อไป.