แฮกเงินดิจิทัลครั้งใหญ่ในโตเกียว
Coincheck ซึ่งให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลในกรุงโตเกียวแถลงเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ว่า จะคืนเงินเสมือนจริงจำนวน 46,000 ล้านเยนหรือราว 13,413 ล้านบาทที่หายไปจากการถูกแฮกเมื่อสองวันก่อนให้กับเจ้าของ
โดยเงินจำนวนนี้คิดเป็นเกือบ 90% ของเงินจำนวน 58,000 ล้านเยนของสกุลเงินดิจิทัล NEM ที่หายไปจากการถูกแฮกเมื่อวันที่ 26 ม.ค.จนทำให้บริษัทต้องประกาศระงับการซื้อขายเงินดิจิทัลทั้งหมด โดยการแฮกเงินครั้งนี้ถือเป็นการขโมยเงินดิจิทัลครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
Coincheck ระบุในแถลงการณ์ว่า จะจ่ายเงินคืนให้กับเจ้าของสกุลเงิน NEM ประมาณ 260,000 คนในญี่ปุ่น ถึงแม้จะยังคงทำการสอบสวนเกี่ยวกับเวลาและวิธีการในการแฮกยังไม่เสร็จสิ้น
การขโมยเงินดิจิทัลครั้งนี้ทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับบิตคอยน์และสกุลเงินเสมือนจริงอื่นๆ เพิ่มขึ้น แม้รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะออกโรงเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม
แหล่งข่าวสองแห่งที่มีความรู้โดยตรงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ระบุว่า สำนักบริการการเงินของญี่ปุ่น (FSA) ส่งคำเตือนไปยังบริษัทประมาณ 30 แห่งทั่วประเทศที่เป็นตัวแทนในการแลกเปลี่ยนเงินเสมือนจริง โดยเป็นการประกาศเตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะถูกโจมตีทางไซเบอร์ และกระตุ้นให้บริษัทเหล่านี้ยกระดับความปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น
หน่วยงานเฝ้าระวังทางการเงินกำลังพิจารณาบทลงโทษในการบริหารสำหรับ Coincheck ภายใต้กฎหมายควบคุมการเงิน อ้างอิงจากหนึ่งในแหล่งข่าว
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเริ่มที่จะกำหนดให้บริษัทที่ทำการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลต้องลงทะเบียนกับทางรัฐบาลเท่านั้นในเดือนเม.ย.ปี 2560 แต่ผู้ประกอบการที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ เช่น Coincheck ได้รับอนุญาตให้เปิดบริการได้ในระหว่างที่รอใบอนุญาต โดยคำยื่นขออนุญาตจากทาง Coincheck ซึ่งยื่นเมื่อเดือนก.ย. ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการ
โดยทาง Coincheck กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ว่า เงินดิจิทัลสกุล NEM ถูกเก็บไว้ใน ‘กระเป๋าเงินร้อน’ แทนที่จะถูกเก็บไว้ใน
‘กระเป๋าเงินเย็น’ ที่มีความปลอดภัยนอกอินเทอร์เน็ต (ซึ่งก็คือการถูกแฮกนั่นเอง) เมื่อถูกถามว่าทำไมจึงเกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นได้ ประธานโคอิชิโร วาดะชี้ว่า เป็นเพราะปัญหาทางเทคนิคและการขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะความสามารถที่จะจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้า
ในปี 2557 Mt.Gox ที่มีฐานในกรุงโตเกียว และเคยมีการดำเนินการซื้อขายบิตคอยน์ประมาณ 80% ของตลาดทั่วโลก ได้ยื่นขอล้มละลาย
หลังจากสูญเสียเงินบิตคอยน์มูลค่าประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินดิจิทัลสกุล ’ยูบิต’ ในเกาหลีใต้ได้ประกาศปิดตัวลงเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว และยื่นล้มละลายหลังจากถูกแฮกเงินไปถึง 2 ครั้งในปีที่แล้ว
การประชุมผู้นำระดับโลกในเมืองดาวอส ในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีประเด็นใหม่ในการพูดคุยเกี่ยวกับอันตรายของสกุลเงินดิจิทัล โดย Steven Mnuchin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ แสดงความกังวลของทางวอชิงตันเกี่ยวกับเงินดิจิทัลที่อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย และฟอกเงิน.