เกษตรกร เชียร์รัฐแก้ปัญหาหมูทั้งระบบ
เกษตรกร เชียร์รัฐแก้ปัญหาหมูทั้งระบบ ยกนิ้วแนวทางดึงเกษตรกรฟื้นอาชีพ เพิ่มซัพพลายหมูขอเร่งเยียวยา-หาสินเชื่อช่วยเกษตรกร ย้ำต้องปล่อยกลไกตลาดทำงานเสรี
นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรสนับสนุนมาตรการเร่งแก้ปัญหาสุกรของภาครัฐ ด้วยการส่งเสริมเกษตรผู้เลี้ยงรายย่อยให้ฟื้นอาชีพกลับมาเลี้ยงสุกร เพื่อให้มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบโดยเร็ว หลังจากที่พี่น้องเกษตรกรต้องเลิกเลี้ยงหรือชะลอการเลี้ยงไปถึง 60% ของจำนวนผู้เลี้ยงทั่วประเทศ จากที่เคยมีถึง 200,000 ราย เหลือเพียง 80,000 รายในปัจจุบัน โดยภาครัฐต้องสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถกลับมาดำเนินการเลี้ยงให้ได้เร็วที่สุด โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสะสมที่เกษตรกรต้องแบกรับมาตลอด ทั้งเรื่องการเร่งจ่ายเงินชดเชยคงค้างให้กับผู้เลี้ยงที่ประสบปัญหาเรื่องโรคในสุกร และได้รับผลกระทบจากมาตรการของภาครัฐ ที่กำหนดให้มีการทำลายสุกร เพื่อป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค รวมถึงการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนในการเริ่มต้นเลี้ยงสุกรใหม่ ควบคู่กับการสร้างแรงจูงใจและสร้างความมั่นใจ ด้วยการประกันภัย กรณีที่กลับมาเลี้ยงใหม่แล้วเกิดความเสียหาย จะต้องมีการชดเชยในทันที
“ที่ผ่านมาเกษตรกรให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการดูแลผู้บริโภคมาตลอด ทั้งที่ต้องเผชิญกับปัญหารอบด้านมานานกว่า 3 ปี เราต้องแก้ปัญหาโดยลำพัง ต้องดูแลและช่วยเหลือกันเอง โดยไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดๆ จนกลายเป็นปัญหาสะสมทำให้คนเลี้ยงไม่มั่นใจ พากันเลิกอาชีพ และปล่อยเล้าร้าง จำนวนหมูจึงลดลงอย่างมากในวันนี้ ถึงแม้ว่าราคาจะจูงใจ แต่ความกังวลต่อสถานการณ์ต่างๆ ทุกคนจึงไม่กล้าเสี่ยง ดังนั้นการจะาฟื้นอาชีพและเรียกความเชื่อมั่นของเกษตรกรกลับมาอีกครั้ง ภาครัฐต้องแก้ปัญหาทั้งระบบในทันที เพราะการเพิ่มปริมาณหมูขุนให้กลับมาใกล้เคียง 18-19 ล้านตัวต่อปี จะต้องใช้เวลา 1-2 ปี ภาครัฐต้องเร่งออกมาตรการช่วยเหลือคนเลี้ยงหมู ให้เหมือนกับที่ช่วยเหลือเยียวยาภาคเกษตรอื่นๆ โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การช่วยลดหนี้ พักหนี้ หรือพักดอกเบี้ย พร้อมเร่งช่วยลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด รวมถึงเลื่อนจ่ายภาษีของเกษตรกรออกไปก่อน และต้องปล่อยให้ราคาซื้อขายเป็นไปตามกลไกตลาด” นายสุนทราภรณ์ กล่าว
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหา ด้วยการงดส่งออกสุกรไปต่างประเทศนั้น ข้อเท็จจริงคือ ขณะนี้การส่งออกหยุดไปโดยอัตโนมัติ จากปริมาณสุกรที่หายไปจากระบบและไม่เพียงพอป้อนตลาดในประเทศ ประกอบกับสุกรไทยมีต้นทุนสูงและราคาปรับเพิ่มขึ้นจึงไม่จูงใจในการสั่งซื้อ ส่วนที่แนะนำให้แก้ปัญหาโดยการนำเข้าสุกรจากต่างประเทศเป็นการชั่วคราว จะยิ่งซ้ำเติมปัญหา เพราะคนไทยต้องเสี่ยงกับสารเร่งเนื้อแดงที่อาจปนเปื้อนมากับผลิตภัณฑ์สุกรต่างประเทศ เกษตรกรต้องเสี่ยงกับโรคสุกรที่อาจติดมากับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว รวมถึงผลกระทบต่อวงจรการผลิตสุกรทั้งอุตสาหกรรม ต่อเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชไร่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ภาคเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การเลี้ยง จนถึงภาคธุรกิจอื่นๆตลอดห่วงโซ่ ที่ต้องล่มสลาย เนื่องจากสุกรไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับสุกรต่างประเทศได้.