ช่องว่างคนรวย/คนจนยิ่งห่าง
ช่องว่างระหว่างมหาเศรษฐีและประชากรที่เหลือในโลกยิ่งห่างกันออกไปอีกในปี 2560 เนื่องจากทรัพย์สินความมั่งคั่งตกอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเล็กๆ อ้างอิงจากรายงานของ Oxfam ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่ทำงานเคลื่อนไหวด้านสังคม (โดยสมาชิกขององค์กรมีความเชื่อว่า ความยากจนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้)
โดย 82% ของกระแสเงินที่สร้างขึ้นในปีที่แล้วเป็นของคนรวยซึ่งมีจำนวนเพียง 1% ของจำนวนประชากรทั่วโลก ขณะที่ครึ่งหนึ่งของคนที่ยากจนที่สุดไม่มีเงินเพิ่มขึ้นเลย Oxfam ระบุว่าตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงระบบที่ล้มเหลว
ทาง Oxfam เป็นผู้จัดทำรายงานแบบเดียวกันนี้ใน 5 ปีล่าสุด โดยในปี 2560 มีการประเมินว่า 8 มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกมีมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดเท่ากับคนยากจนที่มีอยู่รวมกันครึ่งโลก
ขณะที่ในปีนี้ ทาง Oxfam ระบุว่า 42 คนที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มีทรัพย์สินเท่ากับคนจนที่สุดจำนวนครึ่งโลก แต่ได้ปรับแก้ไขตัวเลขคนรวยของปีที่แล้วเป็น 61 คน โดย Oxfam ระบุว่ามีการแก้ไขจากข้อมูลที่พัฒนาดีขึ้นและชี้ว่า แนวโน้มของความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นยังคงอยู่
Mark Goldring ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Oxfam กล่าวว่า การปรับแก้ตัวเลขสะท้อนถึงความจริงที่ว่า รายงานนี้จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในเวลานั้น “อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณดูจากข้อมูล นี่เป็นระดับของความเหลื่อมล้ำที่ยอมรับไม่ได้” เขากล่าว
มีการเผยแพร่รายงานของทาง Oxfam ในช่วงเวลาเดียวกับการเริ่มต้น World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ซึ่งเป็นเมืองสกีรีสอร์ทในสวิตเซอร์แลนด์ โดยการประชุมประจำปีที่ดาวอสดึงดูดนักการเมืองระดับผู้นำประเทศและผู้นำองค์กรธุรกิจให้มารวมตัวกันจำนวนมาก
องค์กรการกุศลแห่งนี้ระบุว่า มีแรงสนับสนุนจำนวนมากคือประมาณ 2 ใน 3 (72%) ของผู้คน 70,000 คนจากการสำรวจใน 10 ประเทศที่กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลประเทศของพวกเขาเร่งดำเนินการเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน
แต่ Mark Littlewood ผู้อำนวยการทั่วไปของสำนักคิด The Institute of Economic Affairs ให้ความเห็นว่า Oxfam กำลังให้ความสำคัญกับข้อมูลของคนรวยมากกว่าคนจน
“ภาษีที่สูงขึ้นและการจัดสรรปันส่วนใหม่จะไม่เกิดผลอะไรเลยกับคนยากจน ความร่ำรวยไม่ใช่ขนมพายที่จะตัดแบ่งกันได้ คนรวยกว่าเสียภาษีมากกว่า การลดความมั่งคั่งของพวกเขาจะไม่นำไปสู่การจัดสรรปันส่วนใหม่ มันจะไม่สร้างประโยช์ให้ใครเลย” เขาเสริม
ยังมีคำวิจารณ์ที่เป็นเสียงสะท้อนมาจาก Sam Dumitriu หัวหน้าฝ่ายวิจัยของสำนักคิดอีกแห่งคือ Adam Smith Institute ซึ่งกล่าวว่า รายงานความเหลื่อมล้ำของ Oxfam เป็นการสร้างภาพที่ผิด
“ในความเป็นจริง ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกมีมานานแล้วในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา”
“ในจีน อินเดีย เวียดนาม ที่มีการปฏิรูปแบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเพิ่มสิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ลดขั้นตอนของกฎระเบียบที่ยุ่งยากลง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในโลกได้รับเงินมากขึ้น ทำให้มีการกระจายรายได้ทั่วโลกอย่างเท่าเทียมมากขึ้น”
ทั้งนี้ รายงานของ Oxfam จัดทำขึ้นบนพื้นฐานข้อมูลจากการจัดอันดับมหาเศรษฐีของนิตยสาร Forbes และรายงานจาก Credit Swiss ซึ่งให้ข้อมูลย้อนหลังไปถึงปี 2543 โดยมีเสียงวิจารณ์ระบบหลักการประเมินของ Oxfam ค่อนข้างมาก เช่น กรณีนักศึกษาคนหนึ่งที่มีหนี้สิน แต่ในอนาคตมีศักยภาพที่จะหารายได้สูงในอนาคต จะถูกจัดเป็นคนจนภายใต้กฎเกณฑ์การประเมินของ Oxfam.