3ปี ‘อีอีซี’ พลิกเศรษฐกิจไทย
3ปี ‘อีอีซี’ พลิกเศรษฐกิจไทย ดันลงทุน – จ้างงาน – เพิ่มคุณภาพชีวิต
เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ถือเป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลที่มีการผลักดันต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยนำเอาแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องจากความสำเร็จของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทยที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่ผ่าน ซึ่งความสำเร็จของอีอีซีถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยพลิกเศรษฐกิจไทยให้ได้รับควาสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ช่วยสร้างงาน เพิ่มรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกับคนในพื้นที่ จนเป็นต้นแบบการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อื่นๆของประเทศ โดยสามารถสรุปเป็นความสำเร็จที่อีอีซีมีส่วนในการสร้างให้เกิดขึ้นเป็น 5 ข้อดังต่อไปนี้
1.อีอีซีเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนที่สำคัญของประเทศ การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีที่รัฐบาลให้สิทธิประโยชน์สูงสุดในการลงทุนเช่นยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี การเว้นภาษีและอากรนำเข้าสำหรับเครื่องจักร การอำนวยความสะดวกให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานในพื้นที่ได้ รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อย่างรวดเร็วทำให้ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาอีอีซีมีการลงทุนรวมสูงมากช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้อย่างมาก
นอกจากนี้ยังมีการจัดเขตส่งเสริมการลงทุนที่เป็นกิจการพิเศษที่สอดคล้องกับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายทำให้เกิดการลงทุนในคลัสเตอร์ที่สำคัญที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ เช่น เขตส่งเสริมการลงทุน เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร (EECmd) เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) และ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เป็นต้น
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่าภาพรวมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ในช่วง 3 ปี(2561-2564) มีมูลค่ารวมกันถึง 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิด 94% จากเป้าหมายแผน 5 ปี (2561-2565) ของอีอีซีที่กำหนดไว้ 1.7 ล้านล้านบาทซึ่งเร็วกว่าเป้าที่กำหนดไว้ถึง 1 ปี ดังนั้นคณะกรรมการนโยบายเขคพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) จึงกำหนดเป้าหมายการลงทุนในระยะ5 ปีข้างหน้า (2565-2569) ไว้ที่ 2.2 – 2.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนในอีอีซีถึง 6 แสนล้านบาทต่อไป ซึ่งการลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึง 4%
2.อีอีซีส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่สร้างทรัพย์สิน รายได้ให้กับประเทศ โดยขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของในพื้นที่อีอีซีมีความคืบหน้าที่สำคัญ ได้มีการลงนามในสัญญาร่วมกับภาคเอกชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา) 2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และ 4.โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F
นายคณิศ กล่าวว่า อีอีซีเป็นต้นแบบที่สำคัญของการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้ง 4 โครงการถือเป็นโครงการร่วมลงทุน รัฐ – เอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership) ที่สำคัญของประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนรวมกัน สูงถึง 654,921 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนภาคเอกชน 416,080 ล้านบาท คิดเป็น 64% และเป็นการลงทุนของภาครัฐ 238,841 ล้านบาท หรือคิดเป็น 36% ของวงเงินลงทุน โดยภาคเอกชนจะต้องให้ผลตอบแทนแก่ภาครัฐเป็นวงเงินรวมกันกว่า 440,193 ล้านบาท โดยเมื่อหักลบจากวงเงินการลงทุนที่ภาครัฐจ่ายไปจากการลงทุนร่วมกับภาคเอกชนไปประมาณ 238,841 ล้านบาท แล้วภาครัฐได้ผลตอบแทนสุทธิคิดเป็นวงเงิน 210,352 ล้านบาท ซึ่งการวางแผนนี้เป็นไปตามแนวคิดที่วางไวเเมื่อ 3 ปีก่อนคิดว่าทำได้นำเอาสินทรัพย์ของภาครัฐที่ไม่ใด้ใช้ประโยชน์ มาใช้ให้เต็มที่ สร้างประโยชน์ให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การพึ่งพาตนเองโดยรัฐบาลไม่ต้องไปกู้เงินต่างประเทศ
โดยการคมนาคม การขนส่ง และโลจิสติกส์ที่ทันสมัยจะเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ การเดินทางที่สะดวกรวดเร็วเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดการลงทุน และการเข้ามาทำงานในอีอีซีในอนาคต
ผลสำเร็จครั้งสำคัญของอีอีซี ที่ได้ขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อการลงทุนของประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้หลักคิด ที่สำคัญคือ ประเทศไทยก้าวไปสู่การพึ่งพาตนเอง โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักในอีอีซีครั้งนี้ ไม่พึ่งพิงเงินกู้จากต่างประเทศ รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณ และได้ผลตอบแทนสุทธิสูงถึง 2 แสนล้านบาท สินทรัพย์ที่นำมาดำเนินการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยบริหารร่วมกับเอกชนถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดมูลค่าลงทุนมากกว่า 650,000 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณของประเทศ และยังสร้างรายได้สุทธิให้กับภาครัฐ เป็นมูลค่าปัจจุบันมากกว่า 200,000 ล้านบาท
นอกจากนี้การลงทุนในอีอีซียังแสดงให้เห็นว่าเอกชนไทย ธุรกิจไทย แข็งแรง ร่วมกระบวนการพัฒนาประเทศได้ การลงทุนในพื้นที่อีอีซีถือเป็นความสำเร็จของความร่วมมือภาครัฐและเอกชนแบบลงตัว สะท้อนถึงภาคเอกชนไทยมีความแข็งแกร่งเป็นแกนหลักในการลงทุนที่จะสร้างงานและเงินหมุนเวียนในประเทศ เกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ มูลค่าการลงทุน 6 แสนล้าน ช่วยให้ เกิดการสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับบริษัทไทย รายใหญ่และรายเล็ก รวมทั้งระดับชุมชน นอกจากนั้นยังสร้างรายได้จากภาษีเป็นจำนวนมาก
“ประเทศไทย กำลังก้าวสู่การสร้างอนาคตใหม่ร่วมกันทั้งประเทศ รัฐ – เอกชน และ การร่วมทุนรัฐบาลร่วมทุนกับบริษัทไทย ไม่ใช่บริษัทต่างชาติ ที่ได้แสดงความแข็งแกร่ง เป็นผู้นำพันธมิตรต่าง ซึ่งต้องขอบคุณเอกชนจริงๆที่มาร่วมลงทุน และการที่เป็นเอกชนไทยไม่ได้เป็นบริษัทต่างชาติ จึงเกิดแนวทางใหม่คือ ใช้บริษัทไทย ใช้คนไทย ใช้เงินไทยและเป็นการลงทุนที่จะสร้าง เงินและงานให้หมุนในประเทศ และสร้างอนาคตให้ประเทศ”นายคณิศ กล่าว
3.ความสำเร็จในด้านการส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจประเทศในระยะต่อไป อีอีซีเป็นพื้นที่การลงทุนสำคัญในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ในการผลักดันโครงการอีอีซีมีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ 10 อุตสาหกรรม และขยายเพิ่มอีก 2 อุตสาหกรรม รวมเป็น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ สร้างนวัตกรรมการผลิต เพิ่มการจ้างงาน รวมทั้งมีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจการลงทุนในระยะเวลา 4 ปี (2560 -2564) มีคำขอส่งเสริมการลงทุนรวมกันถึง 8.78 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนจริงแล้วกว่า 85%
สำหรับการลงทุนช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ (ม.ค.- ก.ย. 64) มีคำขอส่งเสริมการลงทุนแล้ว 348 โครงการ เงินลงทุน 173,780 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น จ.ฉะเชิงเทรา 49 โครงการ มูลค่าการลงทุน 27,800 ล้านบาท จ.ชลบุรี 132 โครงการ มูลค่าการลงทุน 54,310 ล้านบาท และ จ.ระยอง 67 โครงการ มูลค่าการลงทุน 91,640 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นความต้องการลงทุนในอีอีซียังมีมากแม้จะมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม
4.อีอีซีมีบทบาทสำคัญในการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ โดยอีอีซีมีเป้าหมายในการสร้างคนให้ตรงกับงานเพื่อสนับสนุนการสร้างแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความต้องการสูง โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้ามากถึง 475,668 คน
โดยที่ผ่านมาอีอีซีได้ทำงาร่วมกับช่วงที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการฝึกอบรมแรงงานแล้ว 8,392 คน และมีแผนที่จะฝึกอบรมเพิ่มเติมให้ได้ถึง 114,542 คนภายในปี 2566 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสร้างงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด อีอีซีจึงช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างทักษะที่จำเป็นของแรงงานไทยให้มีทักษะความเชี่ยวชาญสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ และของโลก
นอกจากนั้นในการส่งเสริมอาชีพในพื้นที่อีอีซีไม่ได้จำกัดแค่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีแผนงานในการสร้างงานในภาคการท่องเที่ยวและภาคเกษตร โดยมีแผนงานการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออก เช่นช่วยเสริมสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้วให้มีจำนวนมากขึ้น และได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมทั้งมีการลงทุนของแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ตามสิทธิประโยชน์ของอีอีซี เช่น สวนสนุกและสวนน้ำในธีมภาพยนตร์ชื่อดังของโคลัมเบีย พิคเจอร์ แห่งแรกของโลก ซึ่งการลงทุนเป็นตัวอย่างที่ถือเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของไทย นอกจากนั้นอีอีซียังร่วมมือกับเทศบาลเมืองพัทยาในการยกระดับปรับปรุงตลาดลานโพธิ์ฯในเมืองพัทยาให้เป็นย่านการค้าอาหารทะเล และแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ถึงปีละ 1 ล้านคน
และ 5.อีอีซีมีบทบาทสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น โดยงานสำคัญของอีอีซีไม่ได้มีแค่เรื่องอุตสาหกรรมแต่ให้ความสำคัญกับเรื่องสาธารณสุข โดยอีอีซีเข้าไปมีบทบาทในการขับเคลื่อนโครงการสาธารณสุขสำคัญในพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาแบบแม่นยำ เช่น การลงทุนในศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์สามารถรักษาพยาบาลโดยวิเคราะห์จาก DNA 50,000 ราย โดยศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ จะตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) มีเป้าหมายสำคัญในการรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษการแพทย์และสุขภาพครบวงจร และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง ใช้เงินลงทุน 1,250 ล้านบาท EEC ยังจะเป็นพื้นที่นำร่องในการวิจัยด้านการแพทย์ชั้นสูง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรในประเทศไทย เนื่องจากโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างฐานข้อมูลทางดีเอ็นเอของประชากรไทย เพื่อการวิจัยและการวิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อการรักษาโรคต่าง ๆ ในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เทคโนโลยีนี้ถือเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงในการถอดรหัสดีเอ็นเอ เพราะคนไทยมีความหลากหลายทางพันธุกรรม จึงเป็นฐานข้อมูลที่มีคุณค่าสูงมากที่จะมาใช้ในการรักษาพยาบาล โดยในอนาคตพื้นที่อีอีซีจะมีห้องวิจัยและปฏิบัติการเพื่อการวิจัยด้านดีเอ็นเอที่ทันสมัย และจะเป็นห้องสมุดดีเอ็นเอของคนไทยขนาดใหญ่ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและการรักษาโรคร้ายแรงต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคทางพันธุกรรม เป็นต้น
นอกจากนั้นกระทรวงสาธารณสุขยังมีแผนที่จะทำโครงการพีพีพีในการพัฒนาโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ในพื้นที่อ.ปลวกแดง จ.ระยองเพื่อให้มีศักยภาพรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม จำนวนมากในพื้นที่อ.ปลวกแดงและพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งจะมีผู้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในพื้นที่นี้สูงมากจึงต้องการมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องสาธารณสุขในพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
นอกจากนี้อีอีซียังส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่ง 5G จะทำให้เกิดการลงทุนในการพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับให้เมืองต่างๆในพื้นที่อีอีซีกลายเป็น Smart City ที่มีการวางระบบสาธารณูปโภคต่างๆที่ทำให้ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่อีอีซีมีความสะดวกสบายมากขึ้น รวมทั้งมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองในการทำงานที่เกี่ยวกับสาขาดิจิทัลได้มากขึ้น
ทั้งหมดนี้เป็นข้อสรุปส่วนหนึ่งที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมว่าโครงการอีอีซีได้ให้อะไรกับประเทศไทยทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ และสังคมในช่วงระยะเวลา 3 – 4 ปีที่ผ่านมาบ้าง ในระยะต่อไปยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างผลักดัน – ส่งเสริมให้เกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซีเพื่อสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม ให้กับประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน