กมธ.พลังงานแนะรัฐ ชะลอจัดเก็บสำรอง LPG 2%
“กมธ.พลังงานแนะรัฐ ชะลอจัดเก็บสำรอง LPG 2% ชี้ ควรเก็บสำรองช่วงก๊าซราคาถูก”
“กมธ.พลังงาน ชี้ ควรสำรองก๊าซ LPG ช่วงราคาถูก สำรองช่วงราคาแพง สร้างภาระให้ผู้ประกอบการได้ ย้ำ ปัจจุบันสำรองร้อยละ 1 เหมาะแล้ว เตรียม รอนหนังสือถึง กระทรวงพลังงาน ให้ชะลอการสำรองก๊าซ LPG จำนวนร้อยละ 2 เนื่องจากประเทศได้รับผลกระทบจาก Covid–19 อ่วม เศรษฐกิจชะลอตัว หากปรับเพิ่มสำรองก๊าซ ผู้ประกอบการใช้เงินทุนซื้อก๊าซ LPG สำรองราคาแพง ทำต้นทุนเพิ่ม ซ้ำเติมผู้ประกอบการในช่วงเวลาวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ปตท.ชี้ หากปรับสำรองก๊าซ ทำผู้ค้า ม.7 มีต้นทุนเพิ่ม 200 ล้าน/ปี ด้าน พีเอพี แก๊ซ วัน เคาะ ต้องหาสถานที่การจัดเก็บ LPG เพิ่ม 33 ล้านกิโลกรัม ใช้งบจัดเก็บ 500 ล้าน แบกรับดอกเบี้ย/ปี 40 ล้าน เงินลงทุนสร้างคลัง 6,000 ล้าน จัดเก็บ LPG เพิ่ม สยามแก๊ส/ยูนิคแก๊ส ชี้ หากสำรองก๊าซ 2% ต้องจัดเก็บ 16,000 เมตริกตัน ล้นความจุถังจัดเก็บ 2 บริษัทได้ 15,900 เมตริกตัน ถังที่มีทั้งหมดจะต้องมีก๊าซเก็บไว้เต็มตลอดเวลา ทำให้ไม่มีถังว่าง สำหรับการค้าหมุนเวียนในแต่ละวัน ”
นายกิตติกร โล่ห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ รองประธาน, นายธารา ปิตุเตชะ รองประธาน, นายสมเกียรติ วอนเพียร รอบประธาน, นายชัยยันต์ ผลสุวรรณ์ เลขานุการคณะกรรมาธิการ และคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำการพิจารณา “การดำเนินการตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง กำหนดชนิดและอัตรา หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2564 กรณีอัตราสำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลว ร้อยละ 2 โดยเชิญผู้แทนจากกรมธุรกิจพลังงาน ผู้แทนจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้แทนจากบริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) และผู้แทนจากบริษัท พีเอพี แก๊ส วัน จำกัด เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง
กรมธุรกิจพลังงานแจ้งว่า สถานการณ์และแนวโน้มการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวของประเทศไทย และความจำเป็นในการเพิ่มปริมาณสำรองเป็นร้อยละ 2 นายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยกำหนดมาตรการจำกัดการเดินทางของประซาชน เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid – 19 ส่งผลให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดในภาคขนส่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่เดิม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ยานยนต์ หรือการขนส่งสาธารณะ อีกทั้งในปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จึงเห็นได้ว่า ในปัจจุบันความต้องการใช้ LPG ในภาพรวมกลับสู่สภาวะใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์ Covid – 19 แล้ว โดยมีการเปรียบเทียบการใช้และการจัดหาก๊าซปีโตรเลียมเหลว (LPG) ของประเทศ และความเสี่ยง ด้านความมั่นคงทางพลังงาน อันเนื่องมาจากการผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) จากแหล่งก๊าซธรรมชาติภายในประเทศ เนื่องจากการหมดอายุสัญญาสัมปทานแหล่งเอราวัณไม่พร้อมผลิตก๊าชปิโตรเลียมเหลว 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้ทันที หลังหมดอายุวันที่ 23 เมษายน 2565 และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างเจาะหลุมผลิตในแหล่งบงกชเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มกำลังผลิต ในระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ช่วงเมษายน 2565 – ธันวาคม 2566 จึงมีความจำเป็นต้องทำการสำรองเพิ่มเติม เป็นร้อยละ 2
ผู้แทนจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลชี้แจงว่า สถานการณ์ก๊าซปิโตรเลียมเหลวของประเทศว่า การใช้ LPG ภาคเชื้อเพลิง มีแนวโน้มปรับลดลงทุกปีเนื่องจากการใช้ในภาคขนส่งที่ลดลง ปี 2022 แผนปริมาณก๊าซจากอ่าวลดลงเฉลี่ย 200 ล้านมาตรฐานลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลให้โรงแยกก๊าซผลิตก๊าช LPG ได้ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2021 ประมาณ 160 KT ซึ่งสามารถใช้ปริมาณนำเข้ามาชดเชยได้อย่างเพียงพอ จากการ Balance Demand – Supply ของประเทศ ปี 2022 ต้องนำเข้าเฉลี่ยเดือนละ 55,000 ตัน คลังก๊าซเขาบ่อยาของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีความสามารถในการรับสูงสุดเดือนละ 300,000 ตัน สามารถรองรับการนำเข้าได้อย่างเพียงพอ พร้อมกันนั้น ปตท. และ ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ โออาร์ มีสถานที่เก็บสำรอง LPG จำนวน 10 แห่ง กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ความจุถังรวม 147,000 ตัน
ข้อมูลการสำรอง LPG ของประเทศ ปริมาณสำรองตามกฎหมายที่อัตราร้อยละ 1 คิดเป็นปริมาณก๊าซที่นำมาใช้ได้ 4 วัน ปตท. มีถังก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัม ประมาณ 25 ล้านใบ โดยมีถังบรรจุน้ำก๊าซ พร้อมใช้งาน 8 ล้านใบ รองรับความต้องการใช้ภาคครัวเรือน ประมาณ 20 วัน การใช้ LPG ในภาคขนส่ง ซึ่งมีเชื้อเพลิงอื่นทดแทนได้ สามารถจัดสรรมาใช้ ในภาคครัวเรือนได้วันละประมาณ 1,500 ตัน ในกรณีฉุกเฉินสามารถจัดหา Prompt Pressurized / Refrigerated Cargo นำเข้าได้ ในระยะเวลา 5 – 7 วัน การสำรอง LPG ของประเทศ ณ ปัจจุบัน สามารถรองรับความต้องการ หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างเพียงพอ การปรับปริมาณสำรองตามกฎหมายเป็นร้อยละ 2 ทำให้ผู้ค้า ม.7 มีต้นทุนเพิ่ม ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ด้านบริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า สถิติย้อนหลัง 3 ปี ยอดการใช้ LPG ลดลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ปี 2017-2018 ลดลงร้อยละ -2.4 ปี 2018 – 2019 ลดลงร้อยละ -5.3 ปี 2019 – 2020 ลดลงร้อยละ -10.8 ซึ่งคาดว่า ปี 2020 – 2021 น่าจะลดลง
ปัจจุบันสยามแก๊ส มีปริมาณที่จะต้องเก็บสำรองตามกฎหมาย สำหรับปี 2565 โดยประมาณ จำนวน 3,500 เมตริกตัน และยูนิคแก๊ส เก็บสำรองตามกฎหมาย จำนวน 4,500 เมตริกตัน รวม 2 บริษัท ต้องเก็บสำรอง 8,000 เมตริกตัน โดยใช้สถานที่เก็บสำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลวร่วมกัน ดังนี้
1. คลังเก็บก๊าซ บริษัท สยามแก๊ส (นับปริมาณความจุที่ ร้อยละ 85) รวมปริมาณความจุ 11,425เมตริกต้น
2. คลังกับก๊าซ บริษัท ยูนิคแก๊ส (นับปริมาณความจุที่ ร้อยละ 85) รวมปริมาณความจุ 4,475 เมตริกตัน
รวมปริมาณความจุถังของทั้ง 2 บริษัท 15,900 เมตริกตัน ซึ่งหากปรับเพิ่มอัตราการเก็บสำรองเป็นร้อยละ 2 บริษัทฯจะต้องเก็บสำรองเพิ่มกับ 2 บริษัท เป็นจำนวน 16,000 เมตริกต้น จากความจุถังรวมที่ 15,900 เมตริกตัน คือ ถังที่มีทั้งหมดจะต้องมีก๊าซเก็บไว้เต็มตลอดเวลา ทำให้ไม่มีถังว่าง สำหรับการค้าหมุนเวียนในแต่ละวัน
ต้นทุนการสำรองที่ต้องเพิ่มขึ้น หากมีการปรับเพิ่มปริมาณสำรองเป็นร้อยละ 2 มีอยู่ 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1
1. ต้นทุนปริมาณเนื้อก็าซปิโตรเลียมเหลวที่จะต้องเก็บสำรองร้อยละ 2 คำนวณจากปริมาณก๊าซ x ราคาก๊าซ ตามราคาอ้างอิงของ สนพ. ในปัจจุบัน x Vat ค่าก๊าซปิโตรเลียมเหลว = 246,113,686.00 บาท
2. ต้นทุนค่าขนส่ง คำนวณจากค่าขนส่งทางเรือเพื่อขนเข้าคลังเก็บ 360 บาทต่อเมตริกตัน (คำนวณจากราคาน้ำมันดีเซล 5,760,000.00 บาท
3. ต้นทุนทางการเงิน ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี 11,340,316.32 บาท
รวมต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มเฉพาะค่าก๊าซปีโตรเลียมเหลว (ส่วนที่ 1) ค่าก๊าซ + ค่าขนส่ง + ดอกเบี้ยเงินกู้ 263,208,012.32 บาท
ส่วนที่ 2 เป็นส่วนของการลงทุนสร้างถังเก็บก๊าซปีโตรเลียมเหลวเพิ่มเติมจากเดิมเงินลงทุนในการก่อสร้างถังบรรจุก๊าช LPG ขนาด 3,000 ตัน ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโดยประมาณ 50 ล้าน รวมกับดอกเบี้ยเงินกู้ อัตราร้อยละ 4.50 ต่อปี เป็น 2.25 ล้าน รวมเป็นต้นทุนในส่วนการลงทุนก่อสร้างถังเก็บก๊าซโดยประมาณต่อถังเท่ากับ 52.25 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ จะต้องก่อสร้างถังเพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีก 3 ใบ เพื่อทดแทนถังเก็บเดิมที่มีอยู่ที่ถูกนำไปเก็บสำรองเพิ่มอีกเท่าตัว คือ ประมาณเกือบ 8,000 ตัน ทั้งนี้เพื่อให้มีถึงว่างพอสำหรับหมุนเวียนเพื่อทำการค้าในแต่ละวัน ดังนั้น เงินลงทุนในส่วนของการสร้างถังเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพิ่มเติม จำนวน 3 ถัง รวมดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับ 156.75 ล้าน (ยังไม่รวมรวมต้นทุนทั้งสองส่วนโดยประมาณ (ค่าก๊าซ + ค่าก่อสร้างถังเก็บ ๓ ใบ ) 263,208,012.32 + 156,750,000.00 = 419,958,012.32
ความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินงานในอนาคต จากสถานการณ์ในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการชะลอตัว การปรับเพิ่มปริมาณสำรองเป็นร้อยละ 2 ในช่วงนี้ บริษัทฯ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนอีกเป็นจำนวนมากเพื่อการก่อสร้างถังเก็บ และซื้อก๊าซมาเก็บไว้เพื่อสำรองเพิ่ม จึงเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงนี้
ด้าน บริษัท พีเอพี แก๊ส วัน จำกัด ชี้แจงว่า หากรัฐบาลให้ผู้ประกอบการตาม ม.7 สำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลว ร้อยละ 2 ภาระที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับ จากการสำรองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2 คือ สถานที่การจัดเก็บ LPG จำนวน 33 ล้านกิโลกรัม ใช้งบประมาณการจัดเก็บ 500 ล้านบาท ต้องแบกรับภาระดอกเบี้ย จำนวน 40 ล้านบาทต่อปี ต้องจ่ายเงินลงทุนเพิ่ม จำนวน 6,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนสร้างคลังจัดเก็บ LPG รองรับปริมาณเก็บสำรองที่เพิ่มมากขึ้น
ทางบริษัทเสนอแนะ ให้ภาครัฐทำการทบทวน/ปรับเปลี่ยน เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ ในระยะสั้น เสนอให้รัฐบาลมีมาตรการผ่อนผัน เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการที่เพิ่มมากขึ้น ในระยะยาว เสนอปรับปริมาณเก็บสำรองเป็นร้อยละ 1 เพื่อลดการกู้เงิน มาลงทุนสร้างคลังเก็บสำรอง ตามปริมาณสำรองที่เพิ่มมากขึ้น และพร้อมกันนั้น รัฐควรมีการบริหารจัดการคลังสำรองเพื่อความมั่นคงอย่างมีประสิทธิผล หรือไม่เกิดผลกระทบต่อประชาชนซึ่งคลังสำรองควรเป็นของภาครัฐเป็นเครื่องมือในการบริหารราคา
“กรรมาธิการการพลังงานมีข้อสังเกต การสำรองก๊าซ LPG ควรจะมีการสำรองในช่วงที่มีราคาถูก ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงที่มีราคาแพง อาจจะทำให้เป็นภาระกับผู้ประกอบการได้ และควรจะประกาศให้มีการเพิ่มการสำรองก๊าซ LPG ในปริมาณที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 แทนที่จะต้องสำรองก๊าซ LPG จำนวนร้อยละ 2 ในประเด็นดังกล่าว คณะกรรมาธิการการพลังงาน จะทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน กรณีอัตราสำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลว ร้อยละ ๒ เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการชะลอการสำรองก๊าซ LPG เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid – 19 ตั้งแต่ปลายปี 2019 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการชะลอตัว การปรับเพิ่มปริมาณสำรองเป็นร้อยละ 2 ในช่วงนี้ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อก๊าซ LPG มาเก็บไว้เพื่อสำรองเพิ่ม ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่ม เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการในช่วงเวลาวิกฤตจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ และราคาก๊าซ LPG มีรูปแบบเป็นฤดูกาล กล่าวคือ จะมีแนวโน้มมีราคาที่สูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว ปัจจุบันจึงเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมที่จะเพิ่มปริมาณสำรอง แต่ถ้าสามารถยืดเวลาออกไป แล้วจัดหาเข้ามาในฤดูร้อน ขณะที่ ก๊าซ LPG มีราคาที่อ่อนตัวลง จะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมมากกว่า และการนับการสำรองปริมาณก๊าซ LPG ที่ต้องพร้อมใช้ได้ทันที นั้น ควรจะเป็นการนับการเก็บอยู่ในถังก๊าซหุงต้มที่ค้างถังอยู่สำหรับเตรียมจำหน่าย รวมถึงปริมาณก๊าซ LPG ที่อยู่ระหว่างเตรียมการขนส่ง และให้รวมปริมาณก๊าซ LPG ที่อยู่ในเรือที่เป็นคลังก๊าซลอยน้ำ เข้ารวมเป็นการสำรองก๊าซ LPG ได้ด้วย”